รายงานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากปัจจัยภายในองค์กรและปัจจัยภายนอก เช่น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และการแข่งขันทางธุรกิจโลก ในปัจจุบันมีความอ่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้กับพนักงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ สามารถป้องกันและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความเสี่ยงบางเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรได้สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัท ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ในการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และทิศทางขององค์กรลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ สามารถสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทฯ มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ในทุกมิติ
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขต อำนาจ และหน้าที่ที่ระบุในกฎบัตรของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ของบริษัทฯ ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 3 ท่าน ได้แก่
- นายกมล รุ่งเรืองยศ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
- นางสาวฐิติมา ตันติกุลสุนทร กรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
- นางสาวสมใจ ปุราชะโก กรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
ในปี 2566 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร รวมทั้งสิน 4 ครั้ง โดยกรรมการทุกท่านเข้าร่วมประชุมคิดเป็น 100% เพื่อพิจารณาและรับทราบวาระต่างๆ ตามหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ สรุปได้ดังนี้
- กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
โดยมีการติดตามสถานการณ์สำคัญต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีมาตรการเชิงรุกที่เน้นบริหารจัดการเพื่อลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงทุกรายการ และมีมาตรการเชิงรับหากเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงขึ้น เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ส่งผลต่อเป้าหมายขององค์กร โดยมีการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ให้ครบถ้วน โดยในปี 2566 ได้ปรับปรุง “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” (Risk Appetite Statement) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อสร้างความมั่นใจวากระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีความเหมาะสมและสามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล
- กำกับดูแลการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร
เพื่อให้กระบวนการบริหารผู้มีส่วนได้เสียมีความครบถ้วนสมบูรณ์และครอบคลุมการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยให้ความเห็นชอบในเรื่องต่อไปนี้
- กลยุทธ์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท
- วัตถุประสงค์และขอบเขตการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ
- กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทฯ
- ประเด็นที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความสำคัญระดับองค์กร และแนวทางการดำเนินงาน
รวมถึงการผลักดันให้มีการดำเนินงานและผลประเมินการบริหารจัดการ พร้อมทั้งให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเป้าหมาย
- กำกับดูแลการจัดการนวัตกรรมองค์กร
เพื่อให้กระบวนการจัดการนวัตกรรมองค์กรมีความครบถ้วนสมบูรณ์ การบริหารงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบ สามารถเพิ่มประสิทธิผลด้านนวัตกรรมที่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และเป้าหมายหลักของบริษัท รวมถึงใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการผลักดันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะการจัดการนวัตกรรมของบริษัท เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ตามเป้าหมาย
- พิจารณากลั่นกรองและให้ข้อคิดเห็น วาระที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
โดยมีการพิจารณาประเด็นความเสี่ยงและแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเข้มงวด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อให้การลงทุนคุ้มค่ากับต้นทุนค่าเสียโอกาสและเหมาะสมกับบริบททางธุรกิจ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นต่อโครงการต่างๆ ทั้งธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ที่บริษัทฯ ต้องการเติบโตในอนาคตตามทิศทางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ ก่อนนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัท
- ติดตามการบริหารความเสี่ยงองค์กร ประจำปี 2566
โดยติดตามการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ การปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risks) อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกไตรมาส โดยกำหนดให้มีตัวชี้วัดความเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า และตัวชี้วัดความเสี่ยงเพื่อวัดประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยง ให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายจัดการในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นโดยการทบทวนแผนบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และสภาพแวดล้องทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรให้คณะกรรมการบริษัท ได้รับทราบ โดยในปี 2566 คณะกรรมการบริษัท ได้ผลักดันและติดตามผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านค่าระวาง อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงอย่างใกล้ชิด
- พิจารณากลั่นกรองรายการความเสี่ยงองค์กร ประจำปี 2566
และนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท โดยบูรณาการกระบวนการจัดทำรายการความเสี่ยงและแผนบริหารความเสี่ยงองค์กรควบคู่ไปกับการจัดทำแผนประจำปี ทำให้แผนบริหารความเสี่ยงมีความชัดเจน สอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินธุรกิจ โดยได้มีการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผลทันท่วงที
โดยสรุป คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กรและคณะทำงานบริหารความเสี่ยงองค์กรของบริษัทฯ จะมุ่งมั่นรักษาและทุ่มเทพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่งให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผล เหมาะสมและควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยางภายใต้สภาพแวดล้อมที่ท้าทาย