รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ

รายงานคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย กรรมการอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ นายกมล รุ่งเรืองยศ เป็นกรรมการตรวจสอบ และนายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน เป็นกรรมการตรวจสอบ โดยในปี 2566 มีวาระการดำรงตำแหน่ง สรุปดังนี้

1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566

  • ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์ ประธานกรรมการตรวจสอบ
  • นายกมล รุ่งเรืองยศ กรรมการตรวจสอบ
  • นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน กรรมการตรวจสอบ

โดยมีนายณสิต วงศ์พัวพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งสอดคล้องกับตามแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสอบทานและผลักดันให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารความเสี่ยงองค์กร และการควบคุมภายในที่เพียงพอ มีการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ มุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่โปร่งใส มีการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรและฝ่ายตรวจสอบภายในให้เป็นเป้าหมายเดียวกัน เพื่อยกระดับคุณภาพการตรวจสอบภายใน สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนให้แก่บริษัทฯ โดยคำนึกถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน

  1. ผลักดันให้เกิดการยกระดับกระบวนการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ มุ่งเน้นสร้างความตระหนักให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ รวมถึงทบทวนกฎและระเบียบที่เกี่ยวของกับการปฏิบัติงานให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการกำกับดูแลการดำเนินการตามกระบวนการควบคุมภายในให้มีความรัดกุม อีกทั้งเน้นย้ำในเรื่องการทบทวน กระบวนการสืบสวนสอบสวน และการลงโทษทางวินัยให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
  2. ส่งเสริมให้ฝ่ายจัดการกำหนดเป้าหมายในการเป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องการกำกับดูแลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทฯ โดยพิจารณาการดำเนินงานในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) และการรักษาบุคลากร เป็นหลัก
  3. ให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ ในการกำกับให้มีการศึกษาทำความเข้าใจประเทศเหล่านั้นในเชิงลึก ทั้งในเรื่งงของระบบการเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม และประเพณีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม
  4. มอบนโยบายยกระดับคุณภาพการตรวจสอบภายในของบริษัทฯ เพื่อให้การตรวจสอบภายในมีประสิทธิภาพประสิทธิผล น่าเชื่อถือ และมีความเป็นมืออาชีพ รวมถึงเพิ่มบทบาทของการให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับบริษัทฯ และบริษัทในกลุ่ม สอดคล้องตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งส่งเสริมการได้รับวุฒิบัตรทางวิชาชีพของผู้ตรวจสอบภายใน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องตลอดจนการปรับปรุงพัฒนากระบวนการดำเนินงาน โดนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติการตรวจสอบเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุมทั้งสิ้นรวม 4 ครั้ง โดยมีรายละเอียดการเข้าประชุม ดังนี้

1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566

มีการประชุม 4 ครั้ง

  • ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์ เข้าร่วมประชุม 4 ครั้ง
  • นายกมล รุ่งเรืองยศ เข้าร่วมประชุม 4 ครั้ง
  • นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน เข้าร่วมประชุม 4 ครั้ง

สรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของคณกรรมการตรวจสอบ

  1. การสอบทานงบการเงิน : คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานข้อมูลที่สำคัญของงบการเงินรายไตรมาสและรายงานทางการเงินประจำปีของบริษัทฯ และรายงานทางการเงินรวม ร่วมกับฝ่ายจัดการ ฝ่ายตรวจสอบภายใน และผู้สอบบัญชี โดยได้สอบถามผู้สอบบัญชีในเรื่องความถูกต้องครบถ้วนของรายงานทางการเงิน การปรับปรุงรายการบัญชีที่สำคัญ รวมถึงการประมาณการทางบัญชี ซึ่งมีผลกระทบต่อรายงานทางการเงิน ความเพียงพอเหมาะสมของวิธีการบันทึกบัญชีและขอบเขตการตรวจอบ การเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน เพียงพอ และความมีอิสระของผู้สอบบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดทำรายงานทางการเงินเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป มีความเชื่อถือได้และทันเวลา รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ เป็นประโยชน์กับผู้ใช้รายงานทางเงิน
  2. การสอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี : บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี พบว่า กรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และพนักงาน ปฎิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และบริษัทฯ มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฎิบัติใช้อย่างจริงจัง และขยายผลไปสู่คู่ค้าทางธุรกิจ ร่วมกันปฏิบัติควบคู่ไปกับการกำกับดูแลกิจการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสอบทานกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistleblowing)
  3. การสอบทานระบบการประเมินการบริหารความเสี่ยง : คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการบริหารความเสี่ยง จากการรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภานใน และผู้สอบบัญชี และรับทราบรายงานการบริหารความเสี่ยงองค์กร ที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Risk Management Committee ) ทำหน้าท่ กำกับดูแลเรื่องความเสี่ยงโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมถึงการอนุมัตินโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ติดตามการประเมินความเสี่ยง อนุมัติมาตรการจัดการความเสี่ยง และรายงานความก้าวหน้าของการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ 
  1. การสอบทานประสิทธิผลของกระบวนการควบคุมภายใน : คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานความเพียงพอและเหมาะสมของการควบคุมภายใน จากการประเมินความเพียงพอระบบการควบคุมภายในที่ฝ่ายจัดการจัดทำขึ้น ตามแบบประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า บริษัทฯ มีโครงสร้างองค์กรที่คำนึงถึงการแบ่งหน้าที่ในส่วนงานที่สำคัญ มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มีนโยบายและการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร มีกิจกรรมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างต่อเนื่อง มีแนวทางปฏิบัติ มีกระบวนการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของบริษัทย่อย และบริษัทร่วม มีการกำหนดชั้นความลับของข้อมูล จัดช่องทางสำหรับการสื่อสารของพนักงานภายในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร มีการประเมินการควบคุมในระดับองค์กร รวมถึงการประเมินการควบคุมภายในโดยผู้ปฏิบัติงานเอง และมีการตรวจสอบการควบคุมภายในของกิจกรรมต่างๆ โดยหน่วยงานตรวจสอบภายใน

ในปี 2566 จากการสอบทานการควบคุมภายใน ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี มีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสมและไม่พบประเด็นหรือข้อบกพร่องสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทฯ อีกทั้ง ฝ่ายจัดการก็ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชี และหน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง

  1. การกำกับดูแลงานตรวจสอบภายใน : คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานแผนกลยุทธ์แผนตรวจสอบประจำปี และแผนตรวจสอบระยะยาว การปฏิบัติงานตามแผน ผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภายใน โดยให้ข้อแนะนำและติดตามการดำนินการแก้ไขในประเด็นที่มีนัยสำคัญ เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่ดีและมีการควบคุมภายในที่เพียงพอ พิจารณาการปรับปรุงกฎบัตรด้านการตรวจสอบภายใน สอบทานงบประมาณประจำปีของหน่วยงานตรวจสอบภายใน แผนการพัฒนา แผนการสรรหาและการหมุนเวียนบุคลากร การฝึกอบรมบุคลากร การยืนยันความเป็นอิสระ การประเมินความเพียงพอและเหมาะสมของทรัพยากร ดัชนีวัดผลการปฏิบัติงาน และกำกับให้มีการปรับปรุงคุณภาพและปรับปรุงงานของหน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง
  2. การรักษาคุณภาพของคณะกรรมการตรวจสอบ : คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ รวมทั้งประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบภาพรวมทั้งคณะและรายบุคคล ตามแนวปฏิบัติที่ดีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่า การปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ผลการประเมินภาพรวมทั้งคณะอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม โดยมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการตรวจสอบได้รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการบริษัท ทราบทุกไตรมาส โดยให้ข้อคิดเห็นเพื่อเพิ่มคุณค่า และปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน และการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบริษัทฯ
  3. การพิจารณาเแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชี ประจำปี 2566 : คณะกรรมการตรวจสอบ ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ผู้สอบบัญชีจากบริษัท สำนักงานอีวาย จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท ประจำปี 2566 และเสนอให้คณะกรรมการบริษัทนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและอนุมัติค่าสอบบัญชีประจำปี 2566 ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีเป็นการเฉพาะ 1 ครั้ง โดยไม่มีฝ่ายจัดการเข้าร่วมประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับขอบเขต แนวทาง และแผนการสอบบัญชี ความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ และการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี โดยให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอ
  4. การพิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ : คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานและให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รายงานของกรรมการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดเผยให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบอย่างถูกต้องตามเวลาที่กำหนด

โดยสรุป

คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้ระบุระบุไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยยึดมั่นบนความถูกต้อง ชอบธรรม ระมัดระวัง รอบคอบ มีความเป็นอิสระ ตลอดจนได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตุ และข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมและเป็นประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า บริษัทฯ มีระบบบัญชีและรายงานทางการเงินที่ถูกต้องเชื่อถือได้ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารความเสี่ยงและระบบการตรวจสอบภายในที่ดี มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบระหว่างปี 2566 ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร ผู้สอบบัญชีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง