ทำความเข้าใจกับภาษีนำเข้า คิดอย่างไรและต้องจ่ายเท่าไหร่
ทำความเข้าใจกับภาษีนำเข้า คิดอย่างไรและต้องจ่ายเท่าไหร่
ความรู้รอบตัวที่ควรทราบก่อนนำเข้า/ส่งออกสินค้า และลองคำนวน พิจารณาส่งของหรือซื้อของเพื่อเอาเข้ามาเป็นของฝาก รู้ล่วงหน้าหากมีการเรียกเก็บภาษีขาเข้ากับคุณ
1. วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีศุลกากร และภาษีสรรพสามิต
การจัดเก็บภาษีศุลกากร
- เป็นการหารายได้ให้กับรัฐบาล
- เพื่อคุ้มกันอุตสาหกรรมภายในประเทศ
- เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
- เพื่อเป็นการส่งเสริมหรือจำกัดการบริโภค
ศุลกากรระบุไว้ว่า “หากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย รัฐบาลจะจัดเก็บอากรขาเข้าในอัตราค่อนข้างสูงเพื่อให้ประชาชนบริโภคน้อยลง ถ้าเป็นสินค้าที่มีประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น อุปกรณ์การศึกษาและกีฬา การเกษตรกรรม เป็นต้น รัฐบาลจะจัดเก็บอากรขาเข้าในอัตราที่ต่ำ”
วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีสรรพสามิต
1. เป็นรายได้ของรัฐบาล
2. เป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริโภค
3. เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บจากสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้นที่จะบริโภคได้ ฉะนั้นจึงเป็นการควบคุมการบริโภคของประชาชนได้ทางหนึ่ง
จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมภาษีที่เจ้าหน้าที่เรียกเก็บสินค้าแบรนด์เนมจำพวก กระเป๋า รองเท้า น้ำหอม หรือของอื่นที่จัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจำนวนค่อนข้างสูง
2. วิธีการกำหนดราคาศุลกากร หรือ ฐานภาษี
การกำหนดราคาศุลกากรตามหลักการของแกตต์ (GATT Valuation คือ ราคาจากองค์การศุลกากรโลก World Trade Organization: WTO) มี 6 วิธี ดังนี้
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 1 ราคาซื้อขายของที่นำเข้า
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 2 ราคาซื้อขายของที่เหมือนกัน
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 3 ราคาซื้อขายของที่คล้ายกัน
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 4 ราคาหักทอน
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 5 ราคาคำนวณ
- การกำหนดราคาศุลกากรวิธีที่ 6 ราคาย้อนกลับ
3. ทำความเข้าใจกับพิกัดอัตราภาษีศุลกากร และสินค้าจำพวกไหนบ้างที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
เพราะสินค้าทุกอย่างถูกเก็บภาษีไม่เท่ากัน พิกัดอัตราศุลกากร คือ การจำแนกประเภทสินค้าออกเป็นประเภทต่างๆ โดยการจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี พิกัดอัตราศุลกากรขาเข้า ประกอบด้วย 21 หมวด (97 ตอน) ดังนั้นของแต่ละอย่างจึงมีอัตราเรียกเก็บภาษีที่ต่างกัน โปรดดูรายละเอียดของสินค้าย่อยในแต่ละหมวดตามเอกสารหน้า 11-19 ด้านล่างนี้
นอกจากภาษีศุลกากรแล้ว ควรทราบด้วยว่าสินค้าบางอย่างก็มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตด้วยเช่นกัน การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมีทั้งหมด 21 รายการ ดังนี้
- สุรา*
- หินอ่อนและหินแกรนิตที่แปรรูปแล้ว (ได้รับการยกเว้นภาษี)
- ไพ่
- น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
- สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน
- เครื่องไฟฟ้า
- แก้วและเครื่องแก้ว
- รถยนต์*
- เรือ
- สลากกินแบ่ง (ได้รับการยกเว้นภาษี)
- พรมและสิ่งปูพื้นอื่นๆ
- รถจักรยานยนต์
- ยาสูบ
- แบตเตอรี่
- เครื่องดื่ม
- สนามแข่งม้า
- สนามกอล์ฟ
- กิจการโทรคมนาคม
- ไนต์คลับและดิสโก้เธค
- สถานอาบน้ำหรืออบตัวและนวด
- ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง*
4. ของที่ได้รับการยกเว้นอากร มีอะไรบ้าง
โดยหลักๆ แล้วของทุกชนิดที่นำเข้าราชอาณาจักรหรือนำออกจากราชอาณาจักรจะต้องเสียอากรแต่มีบางชนิดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นของที่ได้รับการยกเว้นอากรซึ่งมี 18 ประเภท ยกตัวอย่างคร่าวๆ
ประเภทที่ 1 ของส่งออก รวมทั้งของที่ส่งกลับไป ซึ่งนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปีโดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใดและในเวลาที่ส่งออกนั้นได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาแล้ว ได้รับยกเว้นอากร
ประเภทที่ 2 ของที่นำเข้ามาในประเทศไทยซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้ว และภายหลังส่งกลับออกไปซ่อม ณ ต่างประเทศ หากนำกลับเข้ามาภายในหนึ่งปี หลังจากที่ได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาซึ่งได้ออกให้ในขณะที่ได้ส่งออกแล้ว ได้รับยกเว้นอากร
ประเภทที่ 4 รางวัลและเหรียญตราที่ทางต่างประเทศมอบให้แก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อเป็นเกียรติในความดีเด่น ทางศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ การกีฬา หรือบริการสาธารณะหรือเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความสำเร็จหรือ พฤติกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์แต่เฉพาะรางวัลนั้นจะต้องอยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมศุลกากรที่จะพึงพิจารณาตามแต่จะเห็นสมควร ได้รับยกเว้นอากร
ประเภทที่ 5 ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เอง หรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เว้นแต่รถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และ เสบียง แต่สุรา บุหรี่ ซิการ์หรือยาเส้นซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตนนั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควรเป็นแห่งๆ ไป แต่ต้องไม่เกินปริมาณ ดังนี้
- บุหรี่สองร้อยมวน หรือซิการ์ หรือยาเส้นอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกันมี น้ำหนักทั้งหมดสองร้อยห้าสิบกรัม แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกินสองร้อยมวน
- สุราหนึ่งลิตร
ประเภทที่ 6 ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้วที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่องในการย้ายภูมิลำเนา และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ
ประเภทที่ 11 ของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปเพื่อบริจาคเป็นการสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยผ่านส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หรือเป็นของที่นำเข้ามาเพื่อให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล
ประเภทที่ 12 ของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ ซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคาไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือของที่นำเข้าทางสนามบินศุลกากร ซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกินหนึ่งพันบาท
ประเภทที่ 14 ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า
ประเภทที่ 16 ของที่นำเข้ามาสำหรับคนพิการใช้โดยเฉพาะ หรือใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามหลักเกณฑ์
รายละเอียดทั้งหมดสามารถดูได้จากเอกสารด้านล่าง
5. อัตรา อากรขาเข้าและอัตราภาษีสรรพสามิตมีอะไรบ้าง
ตัวอย่างอากรขาเข้าสำหรับรถยนต์
ตัวอย่างอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำหอม
ตัวอย่างตารางคำนวณอากรขาเข้ารถยนต์ ข้อมูลของกรมศุลกากรจากอินเตอร์เน็ต
ถ้าราคารถอยู่ที่ 100 อัตราอากรทั้งหมด = 213.171 หรือ 213.171%จากราคารถที่นำเข้า นั่นเอง
6. คุณสามารถชำระภาษีด้วยวิธีได้บ้าง
การชำระภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตผ่านกรมศุลกากร หรือด่านศุลกากรได้ 2 วิธี ดังนี้
1. การชำระค่าภาษีอากร ณ กรมศุลกากร เมื่อระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรได้ออกเลขที่ใบขนสินค้าให้แล้ว สามารถไปชำระค่าภาษีอากร ณ หน่วยการเงินของท่า หรือที่ หรือสนามบินที่นำของเข้า/ส่งของออก โดยแจ้งเลขที่ใบขนสินค้าและจำนวนค่าภาษีอากร เพื่อยื่นขอชำระค่าภาษีอากรเป็นเงินสด หรือแคชเชียร์เช็คหรือบัตรภาษี เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยการเงินได้รับชำระค่าภาษีอากรแล้ว จะสั่งพิมพ์และลงนามในใบเสร็จรับเงิน เพื่อมอบใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระค่าภาษีอากรทันที
2. ชำระเงินผ่านธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Funds Transfer : EFT)
ที่มา : https://pantip.com/topic/32318430
โปรดตรวจสอบราคาศุลกากร อัตราอากรขาเข้าและอัตราภาษีสรรพสามิตจากข้อมูลล่าสุดก่อนการนำเข้าที่
กรมศุลกากร http://www.customs.go.th/
กรมสรรพสามิต http://www.excise.go.th/