bangkok

สภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก GDP Q2 และแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังและปีหน้า

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2564 และแนวโน้มครึ่งปีหลังและปีหน้า พบว่า เศรฐกิจในช่วงไตรมาส 2/2564 ขยายตัว 7.5% เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากฐานต่ำ สืบเนื่องมาจากการล็อคดาวน์ทั่วประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ปีที่แล้ว โดยตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่าผลสำรวจใน Bloomberg (6.6%) อย่างไรก็ดี GDP ในไตรมาสที่ 2 นี้ยังคงต่ำกว่า GDP ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ราว 4% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก 2564  ขยายตัวอยู่ที่ราว  2% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวในกรอบ 0.7-1.2%

การฟื้นตัวของการส่งออกที่แข็งแกร่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับการขยายตัวของ GDP ในไตรมาสนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าต่างๆ เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ด้วยเหตุนี้การส่งออกสินค้าและบริการของไทยจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่ 27.5% ดีขึ้นจากที่หดตัวไป 10.5% ในไตรมาสที่ 1 ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 31.4% สูงขึ้นจากที่ขยายตัว 1.7% ในไตรมาสก่อน

หมวดหมู่สินค้าที่ส่งออกได้ดี คือ สินค้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ไทย อาหาร ยานยนต์ กลุ่มอิเลคโทรนิคส์ กลุ่มเครื่องไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น ชุด PPE หน้ากาก ถุงมือยาง โดยภาคเกษตรขยายตัว 2% ตามผลผลิตพืชสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นต้น การใช้จ่ายภาคเอกชน ขยายตัว 4.6% การลงทุนรวม ขยายตัว 8.1 % การลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว 9.2% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.6% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 36.2% แต่ในระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีน ความต้องการสินค้าโดยรวมจะลดลง ส่งผลให้ภาคส่งออกก็จะชะลอตัวลงไปด้วย

การส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2 การส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขยายตัว 30.4% และ 49.8% ตามลำดับ ตามการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีนเพิ่มขึ้น 29.2% ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกผลไม้สด แช่เย็นและแช่เข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นหลัก

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวลดลงในกรอบ 0.7-1.2%  จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 1.5-2.5%  เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานว่าการแพร่ระบาดภายในประเทศผ่านพ้นจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/64 และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมในหลายพื้นที่ได้มากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดในต่างประเทศไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

แต่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ ประกอบด้วย

  1. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังมีการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความไม่แน่นอนเรื่องความล่าช้าในการกระจายวัคซีน
  2. ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
  3. ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
  4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

แนวโน้มธุรกิจที่จะเติบโตหลังการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม ปี 2564-2565 มีแรงส่งหลักคือความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ PPP ซึ่งร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะในส่วน EEC ซึ่งจะสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนของประเทศ และความหวังคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับเข้ามาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2564 นี้ (ยังต้องมีใบรับรองการฉีดวัคซีนและการตรวจเชื้อ)

ขณะที่ปี 2565 คาดว่าไทยสามารถเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขในการฉีดวัคซีนและการกักตัว ในกรณีที่ไทยและต่างประเทศมีการกระจายวัคซีนเพียงพอจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอาจทำให้นักท่องเที่ยวน้อยกว่าที่คาด

อย่างไรก็ตาม มองว่าครึ่งปีหลัง 2565 มีแนวโน้มว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด-19

ดังนั้นภาครัฐต้องติดตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินมาตรการการเงินการคลังที่ออกมาแล้วให้เกิดผลในวงกว้าง รวมถึงการสร้างความต่อเนื่องของมาตรการรัฐ อีกทั้งการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกันต้องเตรียมมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีหลังจากนี้ คาดว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เนื่องจากผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช่องทางออนไลน์ เช่น ธุรกิจความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เพราะหลายธุรกิจเริ่มย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น และมีข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าอยู่มากมาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ข้อมูลเหล่านั้นรั่วไหลออกไป และธุรกิจการขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จากการออกไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้ามาเป็นการสั่งของผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีความสะดวกสบายมากกว่า และในบางครั้งได้รับส่วนลดมากกว่าการซื้อจากหน้าร้านอีกด้วย

Source: BangkokbankSME

PPTVHD36