10 เทรนด์ The Next Normal ก้าวต่อไปในโลกธุรกิจ

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบให้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป สะท้อนให้เห็นเทรนด์สำคัญ ๆ ในอนาคตที่เกิดจากพฤติกรรม และทัศนคติในการดำรงชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะการใช้ชีวิตเน้นสุขภาพ การเปิดรับเทคโนโลยี บริการดิจิทัลใหม่ ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ที่จะเริ่มขยายตัวในวงกว้าง จึงทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การตลาด หรือกระทั่งช่องทางการขาย และการบริการใหม่ ๆ โดยมีเทรนด์การใช้ชีวิตแบบ Next Normal ดังนี้

Stay-at-home economy

สถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป “บ้าน” จึงไม่ได้เป็นแค่ “ที่อยู่อาศัย” แต่ยังกลายเป็นออฟฟิศ ห้องประชุม ฟิตเนส หรือแม้กระทั่งโรงภาพยนตร์ ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้สามารถใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย เทรนด์ดังกล่าวก่อให้เกิดรูปแบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Stay-at-home economy เช่น การพบปะสังสรรค์ผ่านแอปพลิเคชัน ธุรกิจ E-commerce บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และเทคโนโลยีการซื้อสินค้าผ่านประสบการณ์เสมือนจริง (Virtual Reality) ทำให้แบรนด์ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ หันมาพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ Stay-at-Home Economy เพื่อรองรับ Demand การบริโภค และการใช้จ่ายภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมผ่านช่องทาง TikTok การดูภาพยนตร์ผ่าน Netflix นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดธุรกิจแบบ Stay-at-Home Economy มากมาย และมีการเติบโตทางออนไลน์เพิ่มสูงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

Touchless society

การดำเนินชีวิตในโลกยุค next normal จะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ เทคโนโลยีจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อ “ลดการสัมผัสให้น้อยที่สุด” ตัวอย่างเช่น ระบบการจัดส่งสินค้าแบบ Contactless delivery โดยเป็นการให้คนส่งอาหารวางอาหารไว้ในจุดรับ-ส่งของเลย เพื่อเลี่ยงการสัมผัสกับคนขับโดยตรงทั้งการใช้ E-Wallet หรือการสแกน QR Code ประตูที่มีเซ็นเซอร์เปิด – ปิดอัตโนมัติในพื้นที่สาธารณะ รูปแบบการจ่ายเงินแบบ E-payment หรือแนวคิดการออกแบบพื้นที่ธุรกิจที่สามารถให้บริการลูกค้าแบบปราศจากการสัมผัสใด ๆ แต่จะใช้เทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียง (Voice recognition) หรือจำลองโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) แทน

Regenerative organic

ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นหัวใจสำคัญของโลกยุค Next normal ดังนั้น เทรนด์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นผ่านพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงโควิด-19 คือ มาตรฐานสินค้าเกษตรที่เรียกว่า “regenerative organic” ซึ่งไม่เพียงต้องปลอดสารพิษและปราศจากการใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงมาตรฐาน คุณภาพดิน การคุ้มครองสัตว์ คุณภาพชีวิตเกษตรกร ความยุติธรรมด้านค่าแรง รวมถึงระบบฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยหลักการดังกล่าวเป็นหลักการที่ Soil Science Society of America นำเสนอขึ้นมาเพื่อให้ตอบรับกับเทรนด์ Regenerative Agriculture ที่กำลังค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้น ผ่านการทำตามหลักการง่าย ๆ 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ทานอาหารให้หลากหลาย ทั้งพืชผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อให้เกษตรกรได้ปลูกผลผลิตที่หลากหลายตามไปด้วย
  2. สนับสนุนถั่วจากฟาร์มออร์แกนิก เพราะพืชต้นเล็กอย่างถั่วมีคุณสมบัติในการช่วยตรึงไนโตรเจน ที่สามารถนำไปใช้ในดินได้อย่างเหมาะสม การปลูกถั่วสามารถช่วยพัฒนาดินไปได้ในตัว และถั่วยังเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนอกฤดูเก็บเกี่ยวด้วย
  3. เลือกทานเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงอย่างเป็นมิตร เพราะกระบวนการเลี้ยงสัตว์ที่ต้องใช้อาหารจำพวกพืชจากฟาร์มเชิงเดี่ยวที่นำไปอัดเม็ด คือภัยร้ายต่อหน้าดิน
  4. ลดการกินเหลือ เพราะอาหารที่เน่าเสียจะสร้างมลพิษ เมื่อนำไปทิ้งหรือฝังกลบในดิน ก็กลายเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ดินทำงานหนักขึ้นรู้จักการทำปุ๋ย เช่น เปลือกไข่ เศษกระดาษ เศษกาแฟและชา ล้วนมีประโยชน์ต่อดินทั้งสิ้น

10 ปัจจัยพื้นฐาน กับเทรนด์ ‘The Next Normal’ หลังโควิด 19

  1. อาหาร : เน้นการกินอย่างยั่งยืนที่ทั้งดีต่อสุขภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เน้นรูปแบบการบริโภคอาหารสไตล์ Plant Forward พร้อมเน้นส่วนผสมที่เป็นผักผลไม้ธัญพืชต่างๆ หรือเนื้อสัตว์ทางเลือก Plant Based Meat จะได้รับความนิยมขยายเป็นวงกว้าง
  2. ที่อยู่อาศัย : Smart home ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้เราสามารถใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ในบ้านได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยจะกลายเป็นเรื่องพื้นฐานการสั่งเปิด-ปิดไฟและเครื่องปรับอากาศจะได้ทำได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ (home automation)
  3. ยานพาหนะ : ยานพาหนะทุกรูปแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบของยานยนต์ไร้คนขับ และเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า อย่างรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถเมล์ไฟฟ้า ที่เคยเป็นสิ่งใหม่จะพบเห็นได้ทั่วไปในยุคหลังโควิด-19
  4. โซเชียลมีเดีย : เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย และจะมีแนวคิดการตลาด หรือการทำมาร์เกตติง เกิดขึ้นตามมาด้วยอีกหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดใจผู้ใช้งาน ทั้ง Remixing user และ Generate content จากช่องทาง Tiktok เพื่อเรียกเสียงหัวเราะให้ผู้พบเห็น
  5. สินค้าอุปโภคบริโภค FMCG : เทรนด์การใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในหมวด FMCG ที่หมายถึง Fast-moving consumer goods หรือสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการซื้อขายกันอย่างรวดเร็ว และมีราคาถูกจากต้นทุนที่ต่ำ มักเป็นสินค้าที่ไม่คงทนและใช้แล้วหมดไป เช่น  น้ำยาล้างจาน สบู่ กระดาษชำระ แชมพู บะหมี่สำเร็จรูป จะเปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคจะหันไปเลือกใช้สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติ ปราศจากสารปรุงแต่งเป็นสูตร Natural หรือ Organic ยิ่งถ้าผลิตภัณฑ์นั้นบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ ไม่ก่อให้เกิดขยะส่วนเกิน ก็ยิ่งจะโดนใจผู้บริโภคยุค Next normal มากขึ้น
  6. เงิน : คนไทยจะหันมาจับจ่ายผ่านรูปแบบ e-Payment, Card Payment และ Internet & Mobile Banking กันมากขึ้น เพื่อชำระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคการซื้อสินค้า รวมถึงชำระค่าโฆษณาผ่านการทำการตลาดในช่องทางโซเชียลมีเดีย e-Commerce
  7. เครื่องนุ่งห่ม : นอกจากจะต้องตอบสนองด้านความสวยงามสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่แล้ว แบรนด์ต่างๆ ยังให้คุณค่ากับการเลือกใช้วัสดุและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงมุมมองการใช้ชีวิตและทัศนคติที่ถูกส่งผ่านแฟชั่นการแต่งกาย
  8. ยา : สำหรับทัศนคติของคนยุคหลังโควิด 19 ที่มีต่อเรื่องสุขภาพ จะมองหายาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามากกว่าการรักษา เมื่อสุขภาพเริ่มย่ำแย่ ธุรกิจอาหารเสริมที่ช่วยทั้งเรื่องความงามและสุขภาพจึงโตขึ้นอย่างมหาศาล
  9. โทรศัพท์มือถือ : นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการอัปเดตนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ต่างหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับ iPhone ที่ประกาศไม่ให้ที่ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่องใหม่ เพื่อเป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้หลายคนจะมองว่าเป็นข้ออ้างเพื่อลดต้นทุนการผลิตของก็ตาม
  10. พลังงาน : พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแต่เดิมมีความสำคัญอยู่แล้ว จะทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีของพลังงานทดแทนจะมีความก้าวหน้าและมีการพัฒนาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของพลังงานเหล่านี้ลดลง โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงขยะ

ข้อมูลจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้