Let’s balance it up “พอเหมาะ … พอดี … บริหารพื้นที่การยืนระยะ”

แผ่นไม้กระดานขนาดใหญ่ หนาพอที่จะรับน้ำหนักได้พอควร ข้างใต้มีไม้ซุงวางรองอยู่ตรงกลางเป็นฐานที่จัดไว้ให้ทดสอบการทรงตัว ทำให้นึกถึงไม้กระดกหมู่ เล่นได้ทีละหลาย ๆ คน จากนั้นก็แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มๆ ละ สิบคน หุ่นและน้ำหนักคละกัน ให้ทั้งหมดขึ้นไปยืนบนแผ่นไม้กระดานนั้น โจทย์คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ระดับไม้กระดานนิ่ง ซึ่งแปลว่า ทั้งสองกลุ่มซ้าย-ขวาจะต้องปรับน้ำหนัก และระดับให้พอดี ทุกคนพยามขยับตัวคนละนิด เคลื่อนหาตำแหน่งสมดุล ไม่สำคัญว่าใครตัวใหญ่ ตัวเล็ก ใครอ้วนหรือผอม ทุกคนมีหน้าที่ยืนบนกระดานเดียวกันใช้เวลาอยู่ซักพัก ก็สามารถรักษาระดับนิ่งไว้ได้ ทุกคนก็เฮ ด้วยความดีใจ

แต่เอ๊ะ.. ถ้าโจทย์เปลี่ยนล่ะ โดยให้คนตัวใหญ่ก้าวออก อ้าว … แผ่นไม้เริ่มเอียง ที่เหลือหันมองหน้ากัน ก็ต้องขยับกันอีกละ บางคนถามในใจว่า “ใครต้องเป็นคนขยับนะ รอให้เพื่อนขยับก่อนดีกว่าไหม” แต่ความจริงขณะนั้น รอไม่ได้ ไม้เอียงลาดจนแทบจะเททุกคนตกกระดาน ไม่มีเวลาเกี่ยงกันแล้ว หันมาเฉลี่ยน้ำหนัก บ้างเดินหน้า-บ้างถอยหลัง สายตาคอยมองเพื่อนด้วยว่าเพื่อนยืนได้ไหม จนในที่สุด กระดานนิ่งอีกครา ทุกคนดีใจเหมือนเอาชนะเกมได้ ในขณะเดียวกันก็รู้สึกโล่งใจ ผ่อนคลาย และเมื่อโจทย์เปลี่ยนอีกครั้ง คราวนี้ให้เด็กตัวเล็กออก ไม่น่าเชื่อว่าทั้งสิบแปดคนที่เหลือ สามารถปรับตัวให้นิ่งได้อย่างรวดเร็ว เพราะดูแล้วมีคนต้องขยับน้อยมาก

จากการที่ต้องปรับกันครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้ทุกคนเรียนรู้และนำบทเรียนมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ เพราะรู้จุดปรับ รู้วิธีการกระจายน้ำหนัก รู้ว่าจะรักษาสมดุลได้อย่างไร สุดท้ายก็ตีโจทย์แตก เฉกเช่นการร่วมงานในองค์กรเดียวกัน ทุกคนมีความสำคัญอย่างแน่นอน แม้รับผิดชอบงานไม่เหมือนกัน แต่ต่างทำหน้าที่และกำลังมุ่งสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน ต้องปรับตัวเข้าหากัน บริหารความแตกต่าง ประคับประคองเพื่อสร้างดุลยภาพให้เกิดความพอใจในระดับที่เหมาะสม องค์กรใดมีพนักงานร่วมกันรักษาระดับสมดุลนี้ไว้ได้นานเท่าไหร่ องค์กรนั้นก็สามารถเติบโตและอยู่อย่างยั่งยืนได้นานเท่านั้นการปรับตัวและสร้างภาวะอย่างเหมาะสม มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ลองหันมองรอบๆ ตัว ยังมีอีกหลายมุมในธรรมชาติที่กำลังทำหน้าที่อย่างรู้หน้าที่

พวกเราไม่เคยเห็นดวงอาทิตย์เกเรใช่ไหม ตื่นขึ้นมาก็จะยิ้มแฉ่งในทุกเช้า สาดแสงให้พื้นดินได้ไออุ่น สลับกับดวงจันทร์ที่มาเปลี่ยนเวรตอนกลางคืน เพื่อให้ทุกชีวิตได้พักผ่อนอย่างสบาย เกิดกลางวัน กลางคืนสลับกันอย่างลงตัว เป็นเช่นนี้มานานแสนนานแม้การทำหน้าที่ของต้นไม้ มันจะพยามแตกยอด เติบโตทำตัวเองให้มีชีวิตรอด เคยเห็นต้นสนที่อยู่ในเมืองหนาวลำต้นสูงชลูด มีใบอยู่เพียงยอดทำไมต้นสนเมืองหนาวต้องสูงเท่าตึกสามชั้นขนาดนั้นเพียงเพราะทุกต้นต้องต่อสู้ และแข่งกับตัวเองเพื่อชูยอดขึ้นไปรับแสงอาทิตย์ให้ได้ ถ้าโตช้าหรือหยุดโตก็ไม่สามารถรับแสง ต้องแห้งตายในที่สุด ทำให้สนโตไล่ ๆ กัน ถ้าสนอยู่ลำพังเดี่ยว ๆ จะอยู่ได้ยาก เพราะต้องต้านแรงลม แต่เมื่ออยู่รวมกันหลายๆ ต้นก็ช่วยกันรับ และลดแรงลมปะทะ เรามักเห็นป่าสนสูงเรียงกันเป็นทิว นั่นคือสมดุลของความอยู่รอดของต้นสน

ดอกไม้ก็เช่นเดียวกัน ต่างพันธุ์ก็ต่างสี ถ้าเป็นไม้ดอกต้องทำหน้าที่ผลิดอกออกมาให้ตัวเองมีสีสรรสวยงามที่สุด ส่งกลิ่นหอมและสร้างน้ำหวานในตัวเพื่อดึงดูดนก ผีเสื้อ แมลง เข้ามากินน้ำหวาน และเจ้าพวกนก ผีเสื้อ แมลงต่างๆ เหล่านี้ได้นำเกสรดอกไม้ติดไปด้วย เมื่อไปสัมผัสกับต้นอื่น ก็ทำหน้าที่แพร่พันธุ์ดอกไม้รุ่นนี้เหี่ยวแห้งไป เกิดต้นไม้ ดอกไม้รุ่นใหม่ขึ้นมาอีก การเกิดใหม่เป็นการรักษาสมดุลอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะเมื่อเกิดไม้ใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก ทุกต้นช่วยกันแชร์น้ำในดิน ช่วยกันปกคลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ความร้อนถูกกระจายออก แบ่งรับกันต้นละมากน้อยก็แล้วแต่ ทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นสวนอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยให้สัตว์ต่างๆ ได้อีกด้วย ยังมีไม้บางพันธุ์ ป้องกันตัวเองโดยผลิตกลิ่นเหม็นฉุน มีหนามรายรอบ หรือลำต้นและใบลื่นเป็นเงาแม้แต่ฝุ่นยังเกาะไม่ได้ ไม่มีสัตว์ตัวไหนอยากเข้าใกล้ มันก็อยู่อย่างปลอดภัย หรือบางต้นผลิตรสชาดให้เฝื่อนฝาด เผ็ดขม ไม่เป็นที่ต้องการเป็นความชาญฉลาดที่ธรรมชาติเป็นผู้ออกแบบได้อย่างสมดุล

หลายคนประทับใจกับวิถีชีวิตของนกฮัมมิ่ง จับตาดูความอุตสาหะของเจ้านกตัวน้อยๆ ที่ใช้ความพยายามเอาปากแหลมเหมือนเข็ม เจาะรูน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ซึ่งก็เล็กมากอยู่แล้ว ขณะที่ต้องบินลอยตัวอยู่กับที่ ด้วยการกระพือปีกทั้งสองอยู่ตลอดเวลา นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อที่จะดูดน้ำหวานจากดอกไม้ทีละนิด ทีละดอก ช่างไม่มีกิ่งก้านให้เกาะเกี่ยวได้เลยเป็นภาพที่น่าชื่นชมยิ่งนัก การจัดสรีระและทรงตัวอย่างสมดุลของนกฮัมมิ่งนี้ ทำให้มันสามารถกินน้ำหวานได้จนพอใจ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ล้วนทำหน้าที่ได้อย่างสมดุล และลงตัว ธรรมชาติกำลังสะท้อนความเป็นอยู่อย่างมีดุลยภาพให้พวกเราได้ประจักษ์ ไม่ใช้ชีวิตทีฝืนธรรมชาติ ก้าวได้ ถอยได้ ผ่อนปรนในเรื่องเล็กๆ คอยดูแลเกื้อกูลสิ่งรอบตัว เพราะจริงๆ ก็เป็นหน้าที่ของพวกเรานั่นแหละ คนละกี่มากน้อยก็ต้องทำสรรพสิ่งรอบตัวถูกจัดสรรให้อยู่ในที่และมุมที่พอเหมาะพอดี มากไปหรือน้อยเกินไป ก็จะเสียสมดุลทันที ไปต่อไม่ได้หันกลับมาเช็คสถานะตอนนี้กันดีกว่า ว่ารอบตัวของเราเกิดความสมดุลอยู่หรือไม่ ทุกคนพอใจอยู่หรือเปล่ามั่นใจได้เลยว่า เมื่อเราบริหารสมดุลแก่ทุกฝ่ายได้แล้ว เราสามารถยืนระยะในสถานะที่เหมาะสมนี้ได้อีกยาวนานอย่างแน่นอน..

บทความ โดย คุณกิ้ม ฐิติมา ตันติกุลสุนทร

ผู้บริหารบริษัท WICE Freight Services (Thailand) Co., Ltd.