มาตรฐาน IMO เมื่อโลกต้องการพลังงานสะอาด

เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2563 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) จะเริ่มมาตราการ IMO 2020 และบังคับให้เรือทุกลำในโลกกว่าหลายหมื่นลำนั้นเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ ไม่ให้มีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์เกิน 0.5% จากปัจจุบันที่ 3.5% ทำให้เรือต่างๆ จะต้องเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูง (High Sulfur Fuel Oil: HSFO) มาเป็นน้ำมันเตาที่มีกำมะถันต่ำไม่เกิน 0.5% (Low Sulfur Fuel Oil: LSFO) หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ก็คือเปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลสำหรับเดินเรือ (High Speed Diesel/ Marine Gas Oil: MGO) หรือเชื้อเพลิงอื่นที่สะอาดกว่าอย่าง LNG หรือติดตั้งหน่วยลดกำมะถัน (Desulphurisation Unit) เพื่อลดกำมะถันส่วนเกิน ซึ่งก็ต้องใช้เวลาและเงินลงทุนอย่างสูง

จุดกำเนิดมาตรการนี้ มาจากข้อมูลที่พบว่า เรือขนส่งระหว่างประเทศ เป็นแหล่งกำเนิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2 ที่เป็นอันตรายต่อทั้งสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศน์) โดยการปล่อย SO2 จากเรือขนส่ง มีตัวเลขสูงกว่า SO2 จากรถยนต์ดีเซลในยุโรปถึง 3,500 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมากจากโรคหัวใจและมะเร็งปอด ดังนั้น การจำกัดการปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์จากเรือช่วยลดมลพิษทางอากาศและส่งผลให้สภาพแวดล้อมสะอาดขึ้น การลดก๊าซซัลเฟอร์ยังช่วยลดฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กที่เป็นอันตรายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้อีกด้วย การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์จากเรือโดยคณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล (IMPC) ของ IMO ในปี 2559 ที่ฟินแลนด์คาดว่าหากไม่ลดขีดจำกัด ก๊าซซัลเฟอร์สำหรับเรือในปี 2020 มลพิษทางอากาศจากเรือจะเพิ่มขึ้น และประชากรมากกว่า 570,000 คนทั่วโลกอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควในช่วงปี 2563-2568

หลายประเทศจึงกำหนดเขตควบคุมความเข้มข้นของซัลเฟอร์ในเชื้อเพลิงของเรือ (Emission Control Area : ECA) เช่น แถบอเมริกาเหนือและยุโรปเหนือ (ไม่เกิน 0.1%) และจีนประกาศเขตควบคุมซัลเฟอร์ใน 3 เขตท่าเรือ ได้แก่ แยงซี, เพิร์ล และอ่าว Bohai โดยจำกัดซัลเฟอร์ไม่เกิน 0.5% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งเรือที่ต้องเปลี่ยนมาใช้ MGO หรือ LSFO จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจกระทบต่อกำไรหากไม่สามารถผลักภาระไปให้ลูกค้าได้

กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ โรงกลั่น เพราะมาตรการนี้จะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดีเซล ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ LSFO และ MGO เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษในช่วง 2-3 ปีแรก จนกว่ากองเรือจะปรับตัวไปหาวิธีอื่นที่ดีกว่า หรือถูกกว่า โรงกลั่นที่มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันในกลุ่มดีเซลมากจะได้ประโยชน์มาก เพราะค่าการกลั่นจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกำมะถันต่ำจะเริ่มปรับลดลงในปี 2021 และ 2022 หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นในปี 2020 อีกทั้ง การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงกำมะถันต่ำยังนำมาซึ่งผลกระทบอีกหลายประการ กล่าวคือ ผู้ส่งสินค้าจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับค่าธรรมเนียมน้ำมัน ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจะหลีกเลี่ยงการใช้งานเรือขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตั้งระบบบำบัดอากาศเสียหรือใช้เครื่องยนต์รุ่นเก่า พื้นที่ระวางการบริการจะปรับลดลงจากการเลิกใช้เรือขนส่งสินค้าที่ล้าสมัย และสายการเดินเรือที่ปรับตัวล่วงหน้าและติดตั้งใช้งานระบบบำบัดอากาศเสียในกองเรือจะมีความได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการรายอื่นๆ

 

ที่มา:

IMO, Oiltradingbykp, Thai Logistics Manager, Kaohoon, Bloomberg, Krungsri Securities