ทำไมต้อง Green Logistics?

ในปัจจุบัน กระแสการทำธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อมที่บังคับ (ทรัพยากรที่หมดไป และกระแสสังคมจากผู้บริโภค) ทำให้หลายธุรกิจเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการแบบ Eco-friendly ยิ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งแล้ว ยิ่งควรให้ความสนใจต่อผลกระทบของมลพิษที่เกิดจากการขนส่งต่อธรรมชาติ   อีกทั้งความต้องการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจสำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อพัฒนากลยุทธ์การขนส่งและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน การปรับโครงสร้าง กระบวนการ และวิธีการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นความท้าทายขององค์กรในภาคโลจิสติกส์เลยทีเดียว

Green Logistics เป็นการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน รวมถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โดยที่กิจกรรมโลจิสติกส์จะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ กระจายสินค้า โดยกิจกรรมการเคลื่อนย้าย และการจัดเก็บสินค้า ยังเกี่ยวข้องกับการใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกว่าร้อยละ 86-88 จะอยู่ในรูปกล่องกระดาษหรือแพคเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษ วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตกระดาษก็จะเป็นการใช้เยื่อไม้ ซึ่งล้วนแต่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ    Green Logistics จึงมุ่งเน้นไปที่การนำวัสดุที่ใช้ในการบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ และพยายามหลีกเลี่ยงบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ Green Logistics สามารถทำได้หลายมุมมอง ไม่ว่าจะกับการบริการ กระบวนการ ลูกค้า กระบวนการควบคุมและการวัด เทคโนโลยี พนักงาน และซัพพลายเออร์ โดยสามารถทำได้ ดังนี้

  • บรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ
  • การปรับเส้นทางขนส่งให้เหมาะสม
  • การสร้างเครือข่ายองค์กรที่เชื่อมต่อกันด้วยบริการโลจิสติกส์
  • เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์โดยใช้เทคโนโลยี

โดย Green Logistics ที่ไวส์ลงมือปฏิบัติมาอย่างยาวนานจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรนั้น ได้แก่

  1. Eco-driveเป็นการสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ของพนักงานขับรถบรรทุก เพื่อลดสภาวะการใช้น้ำมันสิ้นเปลือง และการดูแลเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ปล่อยไอเสียรบกวนสิ่งแวดล้อม
  2. Full Truck Loadเป็นการจัดการใช้ประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด ด้วยการลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มรถ โดยไม่เกินพิกัดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด เพราะการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินพื้นถนนรองรับได้  ก็ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
  3. Eco-Packagingเป็นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และหรือนำกลับมารีไซเคิลในกระบวนการผลิตได้ใหม่

กระแสของ Green Logistics คงจะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์และภาคผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญเนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม หากไม่ปรับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อ้างอิงจาก: http://www.tanitsorat.com/file/043-Green%20Logistics.pdf