FREIGHT FORWARDER : ธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ (ตอนที่ 2)
ในตอนที่แล้วได้พูดถึงคำจำกัดความของธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder และขอบเขตของการให้บริการ ก็คงพอจะทำให้มองเห็นภาพของธุรกิจประเภทนี้ได้คร่าวๆ จากคำจำกัดความที่ว่า Freight Forwarder คือ ธุรกิจที่รับหน้าที่เป็นธุระดำเนินการในเรื่องต่างๆ แทนผู้ส่งออกและผู้นำเข้า แล้ว Freight Forwarder เข้าไปมีบทบาทในการส่งออกและนำเข้าอย่างไรบ้าง
บทบาทของ Freight Forwarder ในการส่งออกนั้นจะมีดังนี้
1. ทำการเลือกและนำเสนอเส้นทางการขนส่ง รูปแบบการขนส่ง และยานพาหนะที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับลูกค้า หรือผู้ส่งออก ดีที่สุดคือ ต้องเป็นรูปแบบที่ทำให้สินค้าถึงผู้รับโดยปลอดภัยและรวดเร็ว รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
2. ทำการจองระวางกับผู้ขนส่งให้แก่ลูกค้า
3. รับสินค้าจากลูกค้าและทำการบรรจุสินค้า ในระหว่างนี้จะต้องมีการจัดเตรียมเอกสารเพื่อใช้ในการดำเนินพิธีการศุลกากร พร้อมทั้งเอกสารอื่นๆ เช่น หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นต้น
4. ทำการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ พร้อมทั้งดำเนินพิธีการศุลกากรขาออก และส่งมอบสินค้าให้กับผู้ขนส่ง
5. ชำระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งค่าระวางแทนผู้ส่งออกไปก่อน
6. รับใบตราส่งสินค้าที่มีการเซ็นต์และประทับตราเรียบร้อยแล้วจากผู้ขนส่งและส่งมอบให้กับลูกค้า
7. ติดตามการเดินทางของสินค้าจนกว่าจะถึงมือผู้รับสินค้าปลายทาง
ต่อไปเรามามองในส่วนของบทบาทในการนำเข้ากันบ้าง บทบาทในด้านนี้ก็ได้แก่
1. ติดตามการเดินทางของสินค้าแทนลูกค้า พร้อมกับแจ้งให้ลูกค้าทราบ
2. รับและตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับการขนส่ง
3. รับสินค้าจากผู้ขนส่งและจ่ายค่าระวางแทนลูกค้าไปก่อน
4. ดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้า ชำระค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
5. ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า
ในระหว่างการขนส่งนั้น อาจเกิดกรณีที่สินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหาย ดังนั้นก็ถือเป็นหน้าที่ของ Freight Forwarder ในการที่จะต้องทำการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขนส่งให้แก่ลูกค้าด้วย ซึ่งหากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นมาจะต้องใช้เวลาในการสืบสาวราวเรื่องกันพอสมควรทีเดียว เพราะคงไม่มีใครอยากจะจ่ายเงินง่ายๆ
นอกจากนี้ในการส่งออกและนำเข้าสินค้านั้น Freight Forwarder จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบและเงื่อนไขในพิธีการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย รวมทั้งกฎระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้ในการส่งสินค้าในประเทศที่ส่งออกและในประเทศที่นำเข้า (บทความนี้มาจาก eThaiTrade.com) รวมทั้งประเทศต่างๆ ที่ผ่านแดน เพราะแต่ละประเทศอาจจะมีข้อบังคับที่แตกต่างกัน เพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารและป้องกันการสะดุดในกระบวนการ และหลีกเลี่ยงความไม่พอใจในการให้บริการ ซึ่งโดยปกติแล้วลูกค้าจะมีการประเมินผลการทำงานของ Freight Forwarder ไว้ในใจอยู่แล้ว หากเกิดความผิดพลาดขึ้น ลูกค้าก็มีสิทธิ์ที่จะหันไปใช้บริการกับบริษัทอื่นที่มีรอให้เลือกอยู่มากมาย
จะเห็นได้ว่าจากบทบาทของธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น Freight Forwarder จำเป็นต้องติดต่อกับบุคคลหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขนส่ง เจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า จำเป็นต้องพึ่งพาธุรกิจ Freight Forwarder
[Credit: Website Logistics Corner, เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง ธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดย รศ.สุพจน์ ชววิวรรธน์][2]