FREIGHT FORWARDER : ธุรกิจรับจัดส่งสินค้าระหว่างประเทศ (ตอนที่1)
การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมากรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการส่งออกและธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศก็คือ ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ หรือ Freight Forwarder
มาทำความรู้จักกับธุรกิจประเภทนี้กันก่อนดีกว่า เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนก็ยังไม่รู้จักธุรกิจประเภทนี้ หรืออาจจะรู้จักแต่ก็ยังคลุมเครืออยู่บ้าง เพราะว่าการให้คำจำกัดความที่ไม่ชัดเจนและคาบเกี่ยวกับธุรกิจอื่น ซึ่งทำให้เกิดการเรียกชื่อที่ผิดออกไป ธุรกิจอื่นที่กล่าวถึงก็คือ Custom Broker และ Shipping
Custom Broker คืออะไร Custom Broker ก็คือนายหน้าในการจัดการผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งมีความหมายเดียวกับ Shipping ที่จัดการเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากรเท่านั้นแล้ว Freight Forwarder คืออะไร Freight Forwarder ก็คือ ธุรกิจบริการประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นธุระแทนผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ในเรื่องตั้งแต่การจองระวางเรือ การบรรจุสินค้า การขนส่ง การดำเนินพิธีการขาเข้า และขาออก การจัดการเกี่ยวกับเอกสารส่งออกและนำเข้า เป็นต้น กล่าวโดยสรุป Freight Forwarder ก็คือ บริษัทที่ให้บริการแก่ลูกค้าที่มากกว่าการผ่านพิธีการศุลกากร
บริการที่ Freight Forwarder สามารถให้บริการแก่ลูกค้า ได้แก่
1.Custom Broker คือ ตัวแทนออกของให้กับผู้ส่งและผู้รับสินค้า
2.Forwarding Business คือ ตัวแทนในการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า
3.Transportation Provider คือ ผู้ขนส่งสินค้าทั้งทางเครื่องบิน ทางเรือ และทางรถไฟ
4.Packing บริการรับจัดการการบรรจุสินค้า
5.Warehouse ให้บริการโรงพักสินค้า อาจจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการเอง หรือร่วมกับผู้ประกอบการอื่นที่มีโรงพักสินค้าไว้บริการ
6.Labour ให้บริการทางด้านแรงงาน คนงาน ในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
7.Multimodal Transport ให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
8.Logistics Service ให้บริการในการบริหารโลจิสติกส์ หรือการกระจายสินค้า
9.Business Consultant ให้บริการในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้า
จากการให้บริการข้างต้นบริษัทจะเป็นนายหน้าหรือทำหน้าที่เป็นผู้ขนส่งเองก็ได้ กล่าวคือโดยปกติ บริษัทรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้นจะต้องจัดการเรื่องของการขนส่งให้แก่ลูกค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีที่ลูกค้าต้องการที่จะจัดการเองในบางขั้นตอน บริษัทอาจจะจัดการเองแต่เพียงผู้เดียวหรือว่าจ้างให้ผู้บริการรายอื่นก็ได้ ดังนั้นบริษัทจะต้องมีสายป่านยาว คือมีเครือข่ายที่กว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด อีกทั้งจะต้องมีเงินหมุนเวียนมากพอสมควร เนื่องจากค่าใช้จ่ายบางอย่าง ทางบริษัทจะต้องมีการสำรองจ่ายให้กับลูกค้าไปก่อน อย่างเช่น ค่าระวางเรือ ค่าใช้จ่ายที่ท่าเรือ และค่าเอกสารบางอย่าง เป็นต้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและสัญญาซื้อขายของลูกค้าด้วย
[Credit: website: Logistics Corner, เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง ธุรกิจผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดย รศ. สุพจน์ ชววิวรรธน์]