ทำความรู้จักกับ Electronic waste
ทำความรู้จักกับ E-waste
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste Electrical and Electronic Equipment: WEEE) หรือ E-waste เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน โดยที่มีทั้งอันตรายและไม่เป็นอันตราย จัดเป็นขยะอันตราย (Hazardous waste) หากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสมและถูกวิธี อาจก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้
ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ จากสถิติปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่ามีแนวโน้มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก จำนวน 359,070 ตัน ในปี 2555 เพิ่มเป็น 368,314 ตัน และ 384,233 ตัน ในปี 2557-2558 ตามลำดับอัตรา โดยซากที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ โทรทัศน์ (106,335 ตัน หรือร้อยละ 27) รองลงมากคือ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ การเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์มีสาเหตุหลักมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ถูกผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอย่างฟุ่มเฟือยทั้งที่ยังไม่หมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพ ทำให้อายุการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดมีระยะเวลาในการใช้งานที่สั้นลง
E-Waste มาจากที่ไหน
จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า แหล่งที่มาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มาจากบ้านเรือนทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 82 รองลงมาคือ สำนักงาน ร้อยละ 14 และโรงแรม/อพาร์ตเม้นท์ ร้อยละ 3 ตามลำดับ และจากการสำรวจข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มครัวเรือนในการจัดการกับผลิตภัณฑ์ซากเมื่อไม่ใช้งานแล้วพบว่า ส่วนใหญ่จะขายซากผลิตภัณฑ์ฯ คิดเป็นร้อยละ 51.27 เก็บรวบรวมไว้ ร้อยละ 25.32 ทิ้งปนกับขยะทั่วไป ร้อยละ 15.6 และให้ผู้อื่นร้อยละ 7.84
นอกจากนี้ ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้ารวมกันหกหมื่นตัน โดยแบ่งเป็นขยะจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตันเพื่อผ่านกระบวนการสกัดเป็นวัตถุดิบที่มีค่าต่อไป โดยประเทศไทยมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน และอีกหลายประเทศ ขยะที่เข้ามามีหลากหลายประเภท เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และพลาสติกอัดเม็ด ข้อมูลจากโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ขยะเหล่านี้มาจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากมีเทคโนโลยีและกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสม ขยะเหล่านี้ก็สามารถสร้างมูลค่าให้ประเทศได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าต่อประเทศได้อย่างมหาศาล แต่ในปัจจุบัน ขยะดังกล่าวอยู่ระหว่างระงับการนำเข้า สาเหตุที่ยังอยู่ระหว่างระงับการนำเข้าเนื่องมาจากขาดวิธีคัดแยกขยะและกระบวนการบำบัดน้ำเสียที่ถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย ณ ตอนนี้ มีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่มีใบอนุญาตจากกรมแรงงานอุตสาหกรรม และต้องมีการติดตามต่อว่า หากใบอนุญาตของโรงงานแห่งนั้นหมดอายุ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะทำการต่ออายุให้หรือไม่
เป็นที่น่าติดตามว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่จะดำเนินการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และมีมาตรควบคุมที่ชัดเจนหรือไม่ การเตรียมความพร้อมก่อนเวลานั้นมาถึงโดยสร้างความตระหนักรู้ในผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสิ่งจำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ขอบคุณแหล่งที่มาจาก:
Jianswatvatana, Chatchaya. Electronic Waste in Thailand. LM. Vol 22, No. 10, 2019: 20-23.
รายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ฉบับที่ 133 ตุลาคม 2560
ความรู้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนของชุมชนบ้านตลาด เขตจังหวัดกาญจนบุรี
ภาพประกอบจาก:
pexels.com