พ.ร.บ. E-Service คืออะไร มีวิธีเก็บภาษี E-Service อย่างไร
ประเด็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากแพลตฟอร์มต่างชาติ มีความชัดเจนขึ้นมาก หลังจากมีความพยายามผลักดันกฎหมายนี้มาหลายปี ด้วยความต้องการและพฤติกรรมเสพสื่อออนไลน์ของคนไทยที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยรายได้จากการให้บริการอีกมหาศาล
ภาษี E-Service คืออะไร ? อนาคตคนไทยต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ ?
ภาษี E-Service หรือ พระราชบัญญัติผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศให้แก่ผู้รับบริการภายในประเทศ เป็นพระราชบัญญัติที่ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา แต่จะมีผลบังคับใช้เพื่อเก็บภาษีรายได้ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยภาษีชนิดนี้จัดอยู่ในหมวดเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มเก็บภาษีจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย และมีรายได้ 1.8 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ซึ่งบริษัทที่อาจจะถูกเก็บภาษีเป็นรายแรก ๆ ก็คือบริษัทไอทีชื่อคุ้นหูทุก ๆ คน อย่าง Netflix, Facebook, LINE นั่นเอง โดยสามารถอ่านรายละเอียดพระราชบัญญัติได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/011/T_0001.PDF
ทำไมไทยต้องจัดเก็บภาษี e-service จากผู้ให้บริการต่างประเทศ
การจัดเก็บภาษี E-Service จะทำให้ทราบว่า ไทยขาดดุลการค้าด้านดิจิทัล ที่คนไทยจ่ายเงินออกไปนอกประเทศว่าจ่ายออกไปเท่าไร ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยนิยมใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจ่ายเงินออกต่างประเทศ โดยไม่มีรายได้ใด ๆ ที่อยู่ในประเทศไทยเลย หลังจากมี พรบ.ดังกล่าวจะช่วยให้ทราบเงินออกนอกประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามต้องตามกันดูว่าภาครัฐจะสามารถบริษัทผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มจากต่างประเทศให้มาหักภาษีให้กับรัฐบาลไทยได้มากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันมีหลายประเทศได้เริ่มจัดเก็บภาษี E-Service แล้ว ได้แก่ มาเลเซีย ที่เริ่มเมื่อต้นปีนี้ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ขณะที่ อินโดนีเซีย จะเริ่มเก็บภาษีอีเซอร์วิสในวันที่ 1 ก.ค. 2563 โดยเก็บที่อัตรา 10%
ภาษี E-Service เก็บจากอะไร?
หลังจากที่ Netflix, Facebook, LINE อาจถูกหมายหัวเป็นบริษัทรายแรก ๆ ที่จะถูกเก็บภาษี E-Service หลายคนน่าจะสงสัยว่าแล้วจะเก็บภาษีจากรายได้ส่วนไหน ซึ่งตัวอย่างการจัดเก็บภาษี ก็มาจากแพ็กเกจที่ผู้ให้บริการเหล่านี้เสนอขายแก่ผู้ใช้บริการนั่นเอง เช่น แพ็กเกจรายเดือน Netflix, การซื้อโฆษณาผ่าน Facebook, การซื้อและดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพลง เกมผ่าน App Store ของ iOS และ Google Play Store ของ Android ฯลฯ
ภาษี E-Service ส่งผลอย่างไร กับใครบ้าง?
เมื่อมีมาตรการการจัดเก็บภาษี E-Service ออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบกับทั้งผู้ให้บริการ หรือ บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศที่เข้าข่าย และผู้รับบริการ นั่นก็คือพวกเราทุกคนที่กำลังไถ Facebook ดูหนังบน Netflix นั่นเอง ซึ่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่ายก็มีความแตกต่างกันไป
ธุรกิจประเภทใดบ้าง ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการออนไลน์จากต่างประเทศ แต่นิยมใช้มากในประเทศไทย ได้แก่
- กลุ่มอีคอมเมิร์ซ (เช่น อีเบย์ อาลีบาบา อเมซอน)
- มีเดีย และแอดเวอร์ไทซิ่ง (เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ค ไลน์)
- กลุ่มบริการ (มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ,เอเวอร์โน้ต)
- กลุ่มทรานส์ปอร์เทชั่น (แอร์ไลน์ )
- กลุ่มทราเวล( Booking, AirBNB , AGODA)
- ดิจิทัล คอนเทนท์ (NETFLIX, IFLIX, JOOX ,Spotify , VIU)
- กลุ่มซอฟต์แวร์ ( เช่น Apple , Microsoft และแอปต่างๆจากต่างประเทศ )
- เกม(บนไอโอเอส แอนดรอยด์ แอพฯ เกมต่างๆ)
- กลุ่มอินฟราสตรัคเจอร์ (เช่น บริการคลาวด์ต่างๆ )
- บริการการเงิน (เช่น PAYPAL )
- Forex Investment
โดยผู้ประกอบการและธุรกิจดังกล่าวต้องมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยื่นแบบแสดงรายการ ซึ่งวิธีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากร ภายใต้ระบบ Pay-Only (ห้ามหักภาษีซื้อ) โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี และรายงานภาษีซื้อ
ผลกระทบจากภาษี E-Service ต่อผู้ให้บริการ
สิ่งแรกที่จะตามมาเลยก็คือ ต้นทุนการให้บริการต่าง ๆ สูงขึ้น จากเดิมที่ กิจการได้รายได้และกำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะต้องแบ่งเพื่อไปจ่ายภาษีส่วนหนึ่ง ถ้าผู้ให้บริการนั้น ๆ เห็นว่าภาษี E-Service มากเกินกว่าที่จะแบ่งรายได้มาจ่าย จึงทำให้เกิดการขึ้นราคาบริการเพื่อเพิ่มรายได้นำไปจ่ายส่วนของภาษีนั่นเอง และถ้าในอนาคตมีการประกาศอัตราภาษี E-Service ออกมา อาจทำให้บางธุรกิจลังเลหรือชะลอการเข้ามาลงทุน ดำเนินธุรกิจในไทย แต่ถ้าอัตราภาษียังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็สามารถจะช่วยกระตุ้นการเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ผลกระทบจากภาษี E-Service ต่อผู้รับบริการ
ส่วนผลกระทบจากภาษี E-Service ที่มีต่อผู้รับบริการ คงไม่พ้นการเสียค่าบริการรายเดือน ค่าแพ็กเกจ ค่าใช้จ่ายการดาวน์โหลดที่แพงขึ้น ตามต้นทุนการให้บริการที่สูงขึ้น แต่การบริการที่ส่งผลกระทบค่อนข้างหนักหนาเอาการก็คือ วงการโฆษณาออนไลน์บน Social Media หรือพูดง่าย ๆ อย่างการ Boost Post Facebook, การซื้อพื้นที่โฆษณาส่วนต่าง ๆ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างกับมาตรการจัดเก็บภาษี E-Service ที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งที่ทำได้มากที่สุดก็คือ การเตรียมตัว และวางแผนกลยุทธ์องค์กรหรือกิจการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะทั้งผู้รับบริการทั่วไป ผู้รับบริการอย่างธุรกิจ องค์กรรายย่อยที่ต้องใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้ให้บริการต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมาตรการนี้นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติมที่