AEC คืออะไร ??

ช่วงนี้เราเชื่อว่าใครหลายคนคงได้ยินกันคำว่า “AEC” กันบ่อยเหลือเกิน ทั้งจากงานสัมมนาจำนวนมากที่เปิดให้เข้าฟังได้ฟรี ช่วงข่าวทางสื่อทางโทรทัศน์ หรือแม้แต่ลองเปิดอินเตอร์เน็ตแล้วใช้ Search engine ของค่ายไหนก็ตามพิมพ์คำว่า “AEC” เนื้อหาจำนวนมากจะขึ้นมาจำนวนมหาศาล แล้วตกลงว่า “AEC” คืออะไรกันแน่?

AEC ย่อมาจาก ASEAN Economics Community เป็นส่วนหนึ่งของกฏบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นร่างข้อตกลงของประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียนหรือที่เรียกว่า ASEAN Community โดยจุดประสงค์หลักของ AEC คือเพื่อที่ประเทศสมาชิกจะได้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยจะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone (ยูโรโซน) การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจะทำให้มีอำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าอันหมายถึงประเทศอื่นๆ นอกอาเซียนได้มากขึ้นและส่งเสริมให้การนำเข้าและส่งออกของชาติในอาเซียนเสรีมากขึ้น โดยการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2558 (ค.ศ. 2015) เมื่อวันนั้นมาถึงจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปมากอย่างที่พวกเราคิดไม่ถึงทีเดียว แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับ AEC มากกว่านี้ เราควรรู้จักกับ ASEAN Community และกฎบัตรอาเซียนกันก่อน

AEC

ภาพจาก สภาหอการค้าไทย

ASEAN ย่อมาจาก the Association of Southeast Asian Nations คือการรวมตัวของชาติอาเซียน 10 ประเทศในปัจจุบันเข้าด้วยกัน ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน มีคำขวัญของประชาคมอาเซียนว่า “one vision, one identity, one community” หมายถึง “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ และหนึ่งประชาคม” แต่กว่าที่พวกเรา 10 ประเทศจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ เราจำเป็นต้องผ่านประตู 3 บานสำคัญ ได้แก่

  1. Peace (สันติภาพ) การร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อรักษาอาเซียนของเราให้ปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย โจรสลัด การค้ายา หรือสิ่งที่ไม่ถูกกฏหมายอื่นๆ ที่สำคัญคืออาเซียนเราจะไม่ขัดแย้งกันเอง เพื่อความสงบสุขของทุกคน
  2. Prosperity (ความเจริญรุ่งเรือง) หลังจากที่เราอยู่กันอย่างสันติสุขแล้ว สิ่งที่จะตามมาก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ดึงดูดการลงทุนจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ธุรกิจจะเติบโตขึ้น เกิดอาชีพและโอกาสใหม่ๆ มากมาย สายอาชีพบางกลุ่มสามารถเคลื่อนย้ายไปทำที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้ การเกษตรกรรมได้รับการพัฒนา เกษตรกรได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ประชากรในภูมิภาคมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การคมนาคมที่สะดวกสบาย การเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกับคนทั่วโลก และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่เพื่อนบ้านมีปัญหา
  3. People (ประชาชน) ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการรวมประชาคม โดยที่ส่วนบริหารของอาเซียนต่างทำงานหนักเพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือกันยามเกิดภัยพิบัติ ต่อสู้กับโรคระบาด หาวิธีให้ประชาชนในประชาคมอาเซียนเข้าใจและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หาทางให้ครอบครัวมั่นคงและอบอุ่น เป็นต้น

ถึงแม้เราจะเพิ่งเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนี้ ก็สามารถเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่นี้ได้โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น สร้างเพื่อนใหม่จากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เรียนรู้ภาษา ศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น สุดท้ายก็เพื่อจะได้ภูมิใจในความเป็นประชากรของอาเซียนและช่วยกันพัฒนาเพื่อก้าวสู่อนาคตต่อไป

ซึ่งอันที่จริงแล้วประตูต่างๆ ก็เป็นคำอธิบายง่ายๆ ที่มีเนื้อหาครบถ้วนของปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) หรือเรียกสั้นๆ ว่า กฎบัตรอาเซียน

กฎบัตรอาเซียน เป็นร่างสนธิสัญญาที่ทำร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรของสมาคม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้ โดยวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ประกาศใช้ กฎบัตรอาเซียนอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้การดำเนินงานของอาเซียนเป็นไปภายใต้กฎหมายเดียวกันและปูทางไปสู่การสร้างตลาดเดียวในภูมิภาคภายใน 7 ปี (ภายในปี พ.ศ. 2558 นั่นเอง)

AEC

ภาพจาก Sadsawe

กฏบัตรอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก (pillars) ได้แก่

  1. ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community & ndash ASC) มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอยู่อย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาภายในภูมิภาคโดยสันติวิธี และยึดมั่นในหลักความมั่นคงรอบด้าน
  2. ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ร่วมกันในสังคมที่เอื้ออาทร ประชากรมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม (social security)
  3. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้โดยมีลักษณะตาม AEC Blueprint ได้แก่
  • การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ
  • การเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง
  • การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน
  • การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
เมื่อทุกคนมาอยู่รวมกันแล้วย่อมก่อให้เกิดความสามัคคีและแข็งแกร่ง สามารถกระทำการใดๆ ได้ดีกว่าการลงมือทำด้วยตัวเองแค่ประเทศเดียว

ถึงแม้กฏบัตรอาเซียนจะระบุ 3 เสาหลักอย่างเป็นทางการเป็นสิ่งที่อยากให้อาเซียนทั้งหมดทำได้ก็ตาม แต่ก็ต้องมีจุดเริ่มต้นจากที่ใดที่หนึ่งก่อน และจุดที่ว่านั้นก็คือการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC นั่นเอง นับจากวันที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการ เราจะถือว่าอาเซียนคือบ้านอย่างเป็นรูปธรรม เราจะมีเพื่อนบ้านเพิ่มจากเดิม 65 ล้านคน (คนไทยทั่วประเทศโดยประมาณ) กลายเป็น 601 ล้านคน (คนจากทุกประเทศในอาเซียนโดยประมาณ) ในทันที เปรียบเสมือนเป็นหมู่บ้านที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เมื่อทุกคนมาอยู่รวมกันแล้วย่อมก่อให้เกิดความสามัคคีและแข็งแกร่ง สามารถกระทำการใดๆ ได้ดีกว่าการลงมือทำด้วยตัวเองแค่ประเทศเดียว

• • •

แต่ทำไมการรวมกลุ่ม AEC จึงทำให้คนแทบทุกภาคส่วนตื่นเต้นและเตรียมตัวรับมือมากขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ดูแล้วเราน่าจะสบายได้ประโยชน์มากมาย? มีความจริงเบื้องหลังอะไรซ่อนอยู่? บทความตอนที่ 2 ของบทความ AEC จะมาเฉลยคำตอบเหล่านี้กัน

 

ที่มา: http://incquity.com/articles