รายงานของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย กรรมการอิสระจำนวน 2 ท่าน และกรรมการบริหารจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน นายกมล รุ่งเรืองยศ กรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน นางสาวฐิติมา ตันติกุลสุนทร กรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน และนางสาวบุศรินทร์ ต่วนชะเอม กรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน โดยมีเลขานุการบริษัท ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน
คณะกรรมการบริษัท มีความมุ่งมั่นและยืนหยัดในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรโปร่งใสและมีคุณธรรม บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาและยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการสร้างความเป็นธรรมและความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และพัฒนาไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ในปี 2564 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืนมีการประชุม 1 ครั้ง เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาความยั่งยืน โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
• จัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ตลอดจนเปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นรายไตรมาส และข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป ซึ่งมีสาระสำคัญครบถ้วน เพียงพอ เชื่อถือได้และทันเวลา ผ่านช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และเว็บไซต์ของบริษัทฯ www.wice.co.th
สิทธิของผู้ถือหุ้น
• จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 โดยให้ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมแก่ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าอย่างเพียงพอและทันเวลา แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ เป็นการล่วงหน้าก่อนจัดส่งเอกสารเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการประชุมล่วงหน้าอย่างเพียงพอ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนอย่างเต็มที่
การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
• เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการเป็นการล่วงหน้าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด
• กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียของตนและผู้เกี่ยวข้อง ประจำปี 2564 เพื่อกรรมการสามารถพิจารณาธุรกรรมการของบริษัทที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์และตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของบริษัทโดยรวม และกำหนดให้กรรมการที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในวาระการประชุมใดจะต้องงดออกเสียง งดให้ความเห็น และไม่เข้าร่วมประชุมในวาระนั้นๆ
• กำหนดให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารที่มีหน้าที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามกฎหมาย และเลขานุการบริษัทรวบรวมและรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการเป็นรายไตรมาส
• กำกับดูแลให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) โดยให้กรรมการ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลหลีกเลี่ยงการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยหากมีความจำเป็นต้องซื้อขายให้แจ้งเลขานุการบริษัทล่วงหน้า เพื่อสร้างความโปร่งใส
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
• ประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คือ ประเมินกรรมการทั้งคณะ ประเมินตนเอง ประเมินคณะกรรมการชุดย่อย และประเมินบทบาทหน้าที่และผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
• เข้าร่วมการอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ อาทิ หลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และหลักสูตรของสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
• จัดการประชุมระหว่างกรรมการอิสระ 1 ครั้ง
• จัดการประชุมกรรมการโดยไม่มีฝ่ายบริหาร 1 ครั้ง
การให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
• กำกับดูแลให้มีการทบทวนสาระสำคัญของ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณธุรกิจในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อให้ครอบคลุมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการและการควบคุมภายใน การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร และปรับปรุงหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้ครอบคลุมการกำกับดูแลการจัดการนวัฒกรรมองค์กร
• ส่งเสริมและผลักดันให้พันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition against Corruption : CAC)
ความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
• บริษัทฯ กำหนดกรอบการบริหารความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญ 3 หลักการ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) เป็นนโยบายดำเนินการควบคู่กับธุรกิจ พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานกิจการเพื่อสังคม มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชุมชน
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
• การจัดอันดับในกลุ่ม “ดีเลิศ” ของโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2564 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2021) (ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3)