รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย กรรมการอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์ เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ นายกมล รุ่งเรืองยศ เป็นกรรมการตรวจสอบ และนายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน เป็นกรรมการตรวจสอบ โดยในปี 2564 มีวาระการดำรงตำแหน่ง สรุปดังนี้
1 มกราคม 2564 ถึง 14 พฤษภาคม 2564
• ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์
ประธานกรรมการตรวจสอบ
• นายกมล รุ่งเรืองยศ
กรรมการตรวจสอบ
• นายเจริญเกียรติ หุตะนานันทะ
กรรมการตรวจสอบ
14 พฤษภาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2564
• ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์
ประธานกรรมการตรวจสอบ
• นายกมล รุ่งเรืองยศ
กรรมการตรวจสอบ
• นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน
กรรมการตรวจสอบ
โดยมีนางสาวนิภาพรรณ ดุลนีย์ ผู้ตรวจสอบภายใน ดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
ในปี 2564 คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท และตามกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งสอดคล้องกับตามแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยสอบทานและผลักดันให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการบริหารความเสี่ยงองค์กร และการควบคุมภายในที่เพียงพอ มีการกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ มุ่งเน้นการเป็นองค์กรที่โปร่งใส มีการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กร ทั้งนี้ ในปี 2564 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุมทั้งสิ้นรวม 4 ครั้ง โดยมีรายละเอียดการเข้าประชุม ดังนี้
1 มกราคม 2564 ถึง 14 พฤษภาคม 2564
มีการประชุม 2 ครั้ง
• ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
• นายกมล รุ่งเรืองยศ
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
• นายเจริญเกียรติ หุตะนานันทะ
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
14 พฤษภาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2564
มีการประชุม 2 ครั้ง
• ศาสตราจารย์ ดร. รุธิร์ พนมยงค์
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
• นายกมล รุ่งเรืองยศ
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
• นายบุญเกรียง ธนาพันธ์สิน
เข้าร่วมประชุม 2 ครั้ง
สรุปสาระสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของคณกรรมการตรวจสอบ
1.การสอบทานงบการเงิน
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานข้อมูลที่สำคัญของงบการเงินรายไตรมาสและประจำปี 2564 ของบริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) งบการเงินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยซึ่งได้จัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานทางการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ โดยได้สอบทานประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ รายการพิเศษ และได้รับคำชี้แจงจากผู้สอบบัญชี ฝ่ายจัดการ จนเป็นที่พอใจว่าการจัดทำงบการเงิน รวมทั้งการเปิดเผยหมายเหตุประกอบในงบการเงิน เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน จึงได้ให้ความเห็นชอบงบการเงินดังกล่าวที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทาน และตรวจสอบแล้วซึ่งเป็นรายงานความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
นอกจากนี้คณะกรรมการตรวจสอบได้ประชุมร่วมกับผู้สอบบัญชีโดยไม่มีฝ่ายจัดการเพื่อปรึกษาหารือกันอย่างอิสระถึงการได้รับข้อมูล การตรวจสอบข้อมูลที่มีสาระสำคัญในการจัดทำงบการเงินและการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งบการเงิน เรื่องสำคัญจากการตรวจสอบ (Key Audit Matters) รวมทั้งพฤติการณ์อันควรสงสัยตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ เพื่อความมั่นใจในเรื่องการไม่พบพฤติการณ์อันควรสงสัยดังกล่าว ให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบด้วย และงบการเงินรวมของบริษัทฯ เชื่อถือได้ โปร่งใส สอดคล้องตามมาตรฐาน ผู้สอบบัญชีมีความเป็นอิสระและสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบ ยังได้ประชุมเป็นการเฉพาะกับผู้สอบบัญชี โดยไม่มีฝ่ายจัดการ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ การได้รับข้อมูลการตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องที่มีสาระสำคัญในการจัดทำงบการเงิน แนวทางจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน การร้องเรียน การสงสัยเกี่ยวกับการทุจริต และเรื่องอื่นๆ ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ได้มีข้อสังเกตุที่เป็นสาระสำคัญ และไม่พบพฤติการณ์อันควรสงสัย
2. การสอบทานการกำกับดูแลกิจการที่ดี
บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี พบว่า กรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และพนักงาน ปฎิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และบริษัทฯ มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฎิบัติใช้อย่างจริงจัง และขยายผลไปสู่คู่ค้าทางธุรกิจ ร่วมกันปฏิบัติควบคู่ไปกับการกำกับดูแลกิจการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด
3. การสอบทานระบบการประเมินการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานการบริหารความเสี่ยง จากการรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภานใน และผู้สอบบัญชี และรับทราบรายงานการบริหารความเสี่ยงองค์กร ที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Risk Management Committee ) ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องความเสี่ยงโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมถึงการอนุมัตินโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ติดตามการประเมินความเสี่ยง อนุมัติมาตรการจัดการความเสี่ยง และรายงานความก้าวหน้าของการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริษัทญ อย่างสม่ำเสมอ
4. การสอบทานระบบการควบคุมภายใน
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานความเพียงพอและเหมาะสมของการควบคุมภายใน จากการประเมินความเพียงพอระบบการควบคุมภายในที่ฝ่ายจัดการจัดทำขึ้น ตามแบบประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า บริษัทฯ มีโครงสร้างองค์กรที่คำนึงถึงการแบ่งหน้าที่ในส่วนงานที่สำคัญ มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ มีนโยบายและการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร มีกิจกรรมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างต่อเนื่อง มีแนวทางปฏิบัติ มีกระบวนการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของบริษัทย่อย และบริษัทร่วม มีการกำหนดชั้นความลับของข้อมูล จัดช่องทางสำหรับการสื่อสารของพนักงานภายในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียภายนอกองค์กร มีการประเมินการควบคุมในระดับองค์กร รวมถึงการประเมินการควบคุมภายในโดยผู้ปฏิบัติงานเอง และมีการตรวจสอบการควบคุมภายในของกิจกรรมต่างๆ โดยหน่วยงานตรวจสอบภายใน
นอกจากนี้ จากการสอบทานการควบคุมภายใน ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานตรวจสอบภายในและผู้สอบบัญชี ก็ไม่พบประเด็นหรือข้อบกพร่องสำคัญ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทฯ อีกทั้ง ฝ่ายจัดการก็ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชี และหน่วยงานตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง
5. การตรวจสอบภายใน
คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นประจำทุกปีให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท ในปี 2564 ได้พิจารณาและอนุมัติ แผนปฏิบัติการ งบประมาณประจำปี ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ฝ่ายตรวจสอบสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นอิสระและเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจึงกำหนดให้ฝ่ายตรวจสอบมีสายบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และการบริหารความเสี่ยงองค์กรปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ และการควบคุมภายในของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในต่างประเทศ
6. การพิจารณาเแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชี ประจำปี 2564
คณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้พิจารณาเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเป็นประจำทุกปี คณะกรรมการบริษัท จะพิจารณาเห็นชอบตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเสนอ และนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น การเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีนั้น ได้พิจารณาจากคุณสมบัติของผู้สอบบัญชี ความรู้ความสามรถและประสบการณ์ในการตรวจสอบธุรกิจ แนวทางตรวจสอบ ความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชีตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี รวมถึงค่าสอบบัญชีที่เหมาะสม
ในปี 2564 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้นำเสนอผู้สอบบัญชีในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้ง บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด (EY) เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ประจำปี 2564
7. การพิจารณารายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการตรวจสอบได้สอบทานและให้ความเห็นเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกันที่มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รายงานของกรรมการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดเผยให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบอย่างถูกต้องตามเวลาที่กำหนด
8. อื่นๆ ที่คณะกรรมการมอบหมาย
การประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการตรวจสอบ ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งแบบคณะและแบบรายบุคคลประจำปี 2564 ตามที่ถือปฏิบัติกันมา ให้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับทราบ เพื่อเสริมสร้างการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังได้ให้ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาและยกระดับการตรวจสอบภายใน ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยี 4.0
การรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการตรวจสอบได้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการบริษัท รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยยึดมั่นบนความถูกต้อง ชอบธรรม ระมัดระวัง รอบคอบ มีความเป็นอิสระ ตลอดจนได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตุ และข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมและเป็นประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ
คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า บริษัทฯ มีระบบบัญชีและรายงานทางการเงินที่ถูกต้องเชื่อถือได้ มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารความเสี่ยงและระบบการตรวจสอบภายในที่ดี มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบระหว่างปี 2564 ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากคณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร ผู้สอบบัญชีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง