5 กลยุทธ์สิงคโปร์เสริมธุรกิจให้สตรอง
ปี 2563 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับสิงคโปร์ ที่ต้องพยุงสภาพเศาษฐกิจผ่านวิกฤติโควิด-19 อย่างทุลักทุเล กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตลอดปี 2563 ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ติดลบร้อยละ 5.8 เป็นสถิติรายปีเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ สูงสุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2508 และรุนแรงกว่ายุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่ดีกว่าการประมาณการณ์ก่อนหน้านี้โดยรัฐบาลสิงคโปร์เอง ว่าจีดีพีประจำปีที่แล้วจะติดลบระหว่าง 6.0% ถึง 6.5% เนื่องจากภาคก่อสร้าง ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยวและการบริการชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบวกเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการผ่อนปรนหลังสิ้นสุดการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 (Circuit Breaker) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ ที่มีคลัสเตอร์ขนาดใหญ่จากการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนภายในนิคมแรงงานต่างด้าว ซึ่งนั่นทำให้เศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นตัว
สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์
ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเติบโตของทั้ง ภาคการผลิต และภาคการก่อสร้าง
ภาคการผลิต ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การเติบโตของภาคส่วนนี้เป็นผลจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตทางชีวการแพทย์และกลุ่ม Precision Engineering ในขณะที่ผลผลิตกลุ่มวิศวกรรมการขนส่ง และกลุ่มการผลิตทั่วไปมีผลผลิตที่ลดลง
ภาคการก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขยังคงติดลบที่ร้อยละ 28.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลจากมาตรการผ่อนปรนฯ ที่อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาเริ่มกิจกรรมทางการก่อสร้าง
ภาคอุตสาหกรรมการบริการ
ภาคอุตสาหกรรมการบริการโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้น แต่ตัวเลขยังคงติดลบที่ร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากหดตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากแรงกระทบของภาคการค้าส่งและการค้าปลีก ภาคการขนส่งและคลังสินค้า กลุ่มที่พักอาศัย การบริการด้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ Administrative & Support Services และการบริการอื่น ๆ
ภาคการค้าส่งและการค้าปลีก และภาคการขนส่งและคลังสินค้า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 หดตัวร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลกระทบจาก อุปสงค์จากภายน้อยประเทศที่ในลง และข้อจำกัดทางด้านการเดินทางทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19
กลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร กลุ่มการเงินและการประกันภัย และกลุ่มการบริการด้านธุรกิจ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นที่ ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การเติบโตเป็นผลจากขยายในกลุ่มข้อมูลและการสื่อสาร กลุ่มการเงินและการประกันภัย ในขณะที่กลุ่มบริการด้านธุรกิจหดตัว เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มบริการข้อมูลและการสื่อสารเติบโตมากขึ้น เป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่หลังโควิดที่เรียกกว่า New Normal ซึ่งมีการสื่อสาร และการขนส่ง การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้น ซึ่งนำมาสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
กลุ่มที่พักอาศัย การบริการด้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ Administrative & Support Servicesและการบริการอื่น ๆ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 หดตัวร้อยละ 9.9 โดยเป็นผลจาก การหดตัวของกลุ่มธุรกิจที่พัก และกลุ่มธุรกิจการบริการด้านอาหาร และอุตสาหกรรมการบริการอื่นๆ3
สิงคโปร์เตรียมพร้อมรับมือในปี 2564 อย่างไร
รัฐบาลสิงค์โปร์มีนโยบายมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการให้แข็งแกร่ง ผลักดันให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง E-Commerce ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยผ่าน 5 กลยุทธ์ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
- การเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เพื่อรองรับ E-Commerce ระดับสากล โดยรัฐบาลมีแผนเปิดตัวเครือข่าย 5G ทั่วประเทศภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับยอดสั่งซื้อจากทั่วโลก
- การสนับสนุนระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้มีความชำนาญเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม Supply Chain เพื่อรักษามาตรฐานสากลของการจัดการ Supply Chain ให้เกิดความชำนาญเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น
- การเพิ่มความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ ปกป้องธุรกิจจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cybersecurity Threats) โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีการตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Agreements :DEAs) โดยความตกลงนี้จะเพิ่มความปลอดภัยและปกป้องภาคธุรกิจในการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้น
- การเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ในประเทศ ให้พร้อมเข้าสู่ธุรกิจ E-Commerce ระดับสากล โดยหน่วยงานภาครัฐมีโครงการหลากหลายเพื่อผลักดันการเติบโตดังกล่าว เช่น โครงการ Growth Digital ที่มุ่งเน้นช่วย SMEs ในการเริ่มทำธุรกิจใน E-Commerce รวมถึงช่วยแนะนำเทคนิคการเพิ่มฐานลูกค้าไปสู่ระดับสากล หรือโครงการ Market Readiness Assistance ให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนเพื่อธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดในการขยายตลาดทาง E-Commerce เป็นต้น
- การบังคับใช้นโยบายของภาครัฐในสถานการณ์ COVID-19 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยรัฐบาลจะบริหารจัดการ และใช้นโยบายในการประคับประคองสถานการณ์อย่างดีที่สุด เพื่อให้ธุรกิจการค้าของสิงคโปร์เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
หากเศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวได้ โดยอาศัยกลไกธุรกิจบริการด้านอีคอมเมิร์ซเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน ก็จะเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะรุกสู่ตลาดสิงคโปร์ด้วยการใช้ช่องว่างออนไลน์สร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
ข้อมูลจาก