หุ้นโลจิสติกส์ กับเหตุผลควรต้องมีติดพอร์ต!!
หุ้นโลจิสติกส์ กับเหตุผลควรต้องมีติดพอร์ต!!
การผ่อนคลายกฎระเบียบภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าตลาดมหาศาล เป็นหนึ่งในธุรกิจ “เมกะเทรนด์” ที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของโลก
จากข้อมูลสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงโครงสร้างโลจิสติกส์ของไทยมีมูลค่าถึง 1.84 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 14.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แบ่งเป็นมูลค่าการขนส่งสินค้า 52% การจัดเก็บคลังสินค้า 39% และการบริหารจัดการอีก 9% ถ้าพิจารณาประเภทการขนส่ง จะพบว่าอันดับแรกคือการขนส่งสินค้าทางเรือมีสัดส่วนสูงสุด 68% รองมาคือขนส่งทางอากาศ 23%
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ขยายตัว คือการนำเข้าและส่งออกของไทย หากตรวจสอบข้อมูลพบว่าการส่งออกและนำเข้าของไทยเกิดสัญญาณถดถอยต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา กระทบต่อภาพรวม เศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะมูลค่าส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 70-80% ของจีดีพี นั้นหมายความว่ายิ่งตัวเลขส่งออกขยายตัวมากเท่าใด เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ก้าวกระโดดเท่านั้น และในปี 2559 แม้การส่งออกไทยขยายตัวเล็กน้อย 0.45% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี ก่อนเริ่มฟื้นชัด ในปี 2560 ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ค.60) มีมูลค่า 132,399 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15.5% ตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ,จีน เป็นต้น
แม้กระทรวงพาณิชย์จะปรับเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้เป็น 6-6.5% จากเป้าเดิม 5% แต่การผลักดันส่งออกเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ไม่ยอมปล่อยโอกาสทองหลุดมือสั่งเพิ่มเป้าส่งออกปีนี้เป็น 7% ทันที เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และหวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพเร็วขึ้น และยิ่งรัฐบาลกำลังจะเร่งลงทุนเมกะโปรเจกต์เพื่อสร้าง New S-curve ให้กับประเทศ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญช่วยให้ภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีหลากหลายบริษัท โดยแต่ละบริษัทก็มีรูปแบบการทำธุรกิจแตกต่างกันไป ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษา บมจ.ไวส์ โลจิสติกส์ (WICE) ที่มีบิสซิเนสโมเดลแตกต่างกับรายอื่น เพราะนอกจากเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรแล้ว WICE ยังเป็นผู้วางแผนขนส่งสินค้าลักษณะแบบ Door To Door เรียกง่ายๆ ว่าขนส่งสินค้าตั้งแต่หน้าประตูโรงงานไปจนถึงปลายทาง กำหนดทางเลือกให้กับลูกค้ามีต้นทุนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ย้อนไปในช่วงปลายปี 59 WICE เข้าซื้อกิจการ SEL 70% ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่เน้นงานบริการขนส่งทางอากาศ และมีฐานลูกค้าในประเทศสิงคโปร์ จีน โดยใช้เงินทุนซึ่งเป็นส่วนที่ได้มาจากการทำ IPO เข้าทำรายการ M&A ออกหุ้น PP ให้แก่ผู้บริหารของ SEL เพื่อเป็นการแลกหุ้นกัน ทำให้ WICE ไม่มีต้นทุนจากเงินกู้ยืม ที่สำคัญคือ การ Synergy กับ SEL ที่มีสัดส่วนการขนส่งทางอากาศสูง และมีศักยภาพทำกำไร ที่สูงทำให้รายได้ทั้งปีเพิ่มขึ้น ถึง 50% เทียบกับ YoY และกำไรสุทธิก้าวกระโดด 36% เทียบกับ YoY มาแตะ 77 ล้านบาท
ปัจจุบัน WICE มีสัดส่วนรายได้จากขนส่งทางทะเล (Sea Freight) 48% ขนส่งทางอากาศ (Air Freight) 31% และที่เหลืออีก 21% เป็นกลุ่มงานบริการโลจิสติกส์ ประกอบด้วย บริการจัดการคลังสินค้า บริการขนส่งทางบก งานพิธีการศุลกากร ผลประกอบการครึ่งปีแรกรายได้รวม 686.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% YoY กำไรสุทธิ 49.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% YoY การโตที่โดดเด่นของงบการเงินครึ่งปี 60 เป็นผลจากปริมาณงานบริการต่างๆ ของบริษัทมีจำนวนมากขึ้น และการเกิด Economies Of Scales เข้ามาในงบการเงินจาก SEL เป็นการโตทั้งจาก Organic Growth และ In-organic Growth ซึ่งยังไม่มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายใดที่ดำเนินงานด้วยรูปแบบดังกล่าว
ที่สำคัญ WICE ยังมีโมเดลธุรกิจลักษณะ “Asset Light” ซึ่งเป็นโครงสร้างธุรกิจที่มีหนี้สินต่ำมาก เพราะไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ขนาดใหญ่ถาวร เหมือนกับผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายอื่นที่มีโมเดลลักษณะ “Asset Rich” แม้มีการลงทุนสูง แต่สภาพคล่องบริหารจัดการน้อยกว่า ในช่วงสั้นต้องมีการหักค่าเสื่อมราคา กระทบต่อกำไรในบัญชีลดลง แต่ก็มีข้อดีคือเก็บความมั่งคั่งไว้ภายในบริษัท ด้วยรูปแบบโมเดล “Asset Light” จึงทำให้โครงสร้างการเงินของ WICE มีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำเพียง 0.3 เท่าจากเจ้าหนี้การค้าระยะสั้น เพราะเน้นการให้บริการเป็นสำคัญ
ข้อดีคือรับรู้กำไรทางบัญชีได้มากกว่า มีมาร์จิ้นสูง จ่ายปันผลได้สูงกว่า เพราะไม่ต้องลงทุนสินทรัพย์ขนาดใหญ่บ่อยครั้ง และมีความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจให้เติบโตได้รวดเร็ว ธุรกิจในลักษณะนี้นักลงทุนจะยอมให้พรีเมี่ยมบวกเข้าไปในราคาหุ้น จึงเป็นปกติที่จะเทรดกันบน P/E แพงๆ ย้อนมองราคาไอพีโอ WICE ครั้งเข้าจดทะเบียนใน SET เมื่อ 28 ก.ค.58 ที่ราคา 2.10 บาท ถ้าเทียบกับราคาปัจจุบันถือว่าเพิ่มขึ้นมากว่าเท่าตัวภายในช่วง 2 ปีเศษ ซึ่งสอดคล้องกับรายได้และกำไรสุทธิของ WICE ที่เติบโตขึ้นมาเท่าตัวเช่นกัน
ข้อมูลนักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุในบทวิจัยฯว่า ผลประกอบการของ WICE ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะมีแหล่งระดมทุนจากเงินไอพีโอทำให้ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและซื้อกิจการในต่างประเทศ ทำให้รายได้ของ WICE ขยายตัวถึง 93% นับตั้งแต่ปี 2556 เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมขยายตัวเพียง 17% ซึ่งนั้นสะท้อนถึงการพัฒนาเร็วกว่ากลุ่มฯถึง 5 เท่าตัว
แม้ว่าในครึ่งปีแรกธุรกิจโลจิสติกส์จะเงียบเหงา เพราะในไตรมาสแรกตลาดใหญ่อย่างจีน มีช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน และต่อเนื่องมาไตรมาส 2 ผู้ส่งออกไทยมีช่วงชะลอการผลิตเพราะเป็นเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ แต่ในครึ่งปีหลังจะเห็นการเร่งตัวขึ้นของออเดอร์เป็นช่วงฤดูกาลผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือเป็นลูกค้าหลักของ WICE ในปัจจุบัน ซึ่งในไตรมาส 2/60 อัตรากำไรขั้นต้นของ WICE จะอ่อนตัวมาอยู่ที่ 23.6% เป็นผลจากสัดส่วนให้บริการทางทะเลมีสูงถึง 49.9% ในครึ่งปีหลังเข้าสู่ไฮซีซั่น สัดส่วนขนส่งทางอากาศมากขึ้น ช่วยผลักดันอัตรากำไรขั้นต้นขึ้นมาในกรอบ 25% หนุนกำไรสุทธิของ WICE ในไตรมาส 3 และ 4 มีโอกาสทุบสถิติสูงสุดใหม่ได้ (All time high) ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯประเมินกำไรสุทธิระยะ 3 ปีข้างหน้า(60-63) จะเติบโตเฉลี่ย 36.1% สูงกว่าการขยายตัวของรายได้ และยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ คาดคืนกลับมาในรูปเงินปันผลน่าพอใจเฉลี่ย 2.6-3% ประเมินราคาเหมาะสม ที่ 5.20 บาท/หุ้น
จากการสอบถามบอร์ดบริหาร WICE ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ในต่างประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะมีการปรับภาพลักษณ์องค์กร ครั้งใหญ่ สร้างแบรนด์ WICE เพื่อก้าวสู่การเป็น “โกลบอลแบรนด์” ในอีก 2 ปีข้างหน้า จึงเป็นที่น่าติดตามว่าจะสร้าง อัพไซด์ใหม่ให้กับ WICE ในช่วงถัดไปได้อย่างไร…
เหตุผลข้างต้นเป็นเพียงปัจจัยบางส่วนสนับสนุนหุ้นโลจิสติกส์เท่านั้น ดังนั้นผู้ลงทุนควรพิจารณาก่อนว่าต้องการหุ้นในแบบใด แต่ในมุมมองหุ้นโลจิสติกส์ยังเปรียบเสมือน Growth Stock ที่เหมาะสมกับการลงทุนระยะยาวมากกว่า….